FNS อยากกินขนม.!?

เกิดความฮือฮาปาจิงโกะในวงการตลาดทุนและวงการการเงิน...เมื่ออยู่ ๆ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS ผู้ให้บริการด้านการเงินชื่อดัง ก็ตกลงปลงใจแปลงสภาพหนี้เงินกู้ 60 ล้านบาท ไปถือหุ้นในบริษัท ขนมคาเฟ่ จำกัด หรือชื่อเดิม บริษัท ขนมแฟคตอรี่ (1999) จำกัด สัดส่วน 30%


สำนักข่าวรัชดา

เกิดความฮือฮาปาจิงโกะในวงการตลาดทุนและวงการการเงิน…เมื่ออยู่ ๆ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS ผู้ให้บริการด้านการเงินชื่อดัง ก็ตกลงปลงใจแปลงสภาพหนี้เงินกู้ 60 ล้านบาท ไปถือหุ้นในบริษัท ขนมคาเฟ่ จำกัด หรือชื่อเดิม บริษัท ขนมแฟคตอรี่ (1999) จำกัด สัดส่วน 30%

น่าแปลก FNS ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน ขาหนึ่งทำวาณิชธนกิจ ส่วนอีกขาให้บริการทางการเงิน และมีธุรกิจโบรกเกอร์อีกต่างหาก จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจเบเกอรี่และเครื่องดื่ม ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย…

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใด FNS จึงยอมแปลงสภาพหนี้ก้อนนี้..?

เป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากความจำเป็นของลูกหนี้…อย่างที่รู้กันดีว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ธุรกิจเบเกอรี่และเครื่องดื่มคงไม่ได้สดใสเหมือนในอดีต น่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อย ทำให้ไม่สามารถคืนหนี้แก่ FNS ได้ ก็เลยต้องยอมแปลงหนี้เป็นทุน…

แหม๊..! เห็น FNS ข้ามสายพันธุ์ไปลงทุนธุรกิจเบเกอรี่และเครื่องดื่มแบบนี้ ทำให้นึกถึงกรณีเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เกิดความฮือฮามาแล้ว เมื่ออยู่ ๆ ธุรกิจโบรกเกอร์อย่างบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZIMCO (ปัจจุบันแปลงร่างเป็นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG) ไปลงทุนธุรกิจเคลือบแก้วรถยนต์ ด้วยการควักเงิน 37.8 ล้านบาท ซื้อหุ้น 12% ในบริษัท คริสตัล ซิลด์ โปรเฟสชั่นนอลคาร์ โค้ทติ้ง จำกัด (CTS) ธุรกิจศูนย์บริการดูแลปกป้องและเคลือบแก้ว เคลือบสีรถยนต์

ถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน…จากธุรกิจโบรกเกอร์จะข้ามสายพันธุ์ไปสู่ธุรกิจเคลือบแก้วรถยนต์..!! ซึ่งต่างกันราวฟ้ากับเหว…ไม่น่าจะไปด้วยกันได้

ส่วนการข้ามสายพันธุ์ของ ZIMCO ครั้งนั้น ประสบความสำเร็จแค่ไหน..? เรื่องนี้มิอาจทราบได้ เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด

กลับมาที่ FNS ก็น่าคิดว่า เมื่อเข้ามาถือหุ้น 30% ในบริษัท ขนมคาเฟ่ แล้วจะทำยังไงต่อ..? แม้เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ของ FNS

ถ้าไปดูแบ็กกราวด์บริษัท ขนมคาเฟ่ หรือที่รู้จักในชื่อร้าน Kanom เป็นร้านเบเกอรี่ที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 20 ปีแล้ว โดยก่อตั้งตั้งแต่ปี 2542 มีเบเกอรี่ที่เป็นที่นิยมหลากหลาย โดยเฉพาะทาร์ตไข่ที่มีสูตรต้นตำรับมาจากร้านดังของมาเก๊า และปาท่องโก๋ยักษ์ ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของร้าน…

ปัจจุบันร้าน Kanom มี 20 สาขา โดยสาขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง…

ที่จริงในแง่ยอดขาย ถือว่าทำได้ดี…เป็นร้านเบเกอรี่ที่มียอดขายค่อนข้างสูง หลักร้อยล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว โดยปี 2561 มีรายได้รวม 110 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 138 ล้านบาท และปี 2563 มีรายได้รวม 119 ล้านบาท แต่กลับประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง…ปี 2561 มีกำไร 143,277 บาท ปี 2562 ขาดทุน 26.33 ล้านบาท และปี 2563 ขาดทุน 26.43 ล้านบาท

นั่นอาจเป็นเพราะยังติดกับดักเรื่องของต้นทุน…ดังนั้น ถ้าสามารถแก้โจทย์ตรงนี้ ก็น่าจะเห็นกำไรเป็นกอบเป็นกำ.เทิร์นอะราวด์ได้.!!

โอเค…ถ้าเทียบกับพอร์ตของ FNS อาจน้อยนิด ไม่มีนัยสำคัญอะไร แต่ก็ถือเป็นมูฟเมนต์ที่น่ารักของ FNS

ซึ่ง FNS คงไม่คิดอะไรมาก อาจแค่อยาก “กินขนม…จิบกาแฟ” ชิว ๆ ก็เท่านั้น..!?

อิ อิ อิ…

Back to top button