โอลิมปิกโตเกียว จะขาดทุน มหาศาล

แม้ว่าโอลิมปิกโตเกียวปีนี้จะเป็นช่วงเวลาอันเงียบเหงาที่สุด เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่ไม่มีคนดูข้างสนามเลย แต่ข่าวคราวของการแข่งขันยังเข้ามาหนาแน่นเหมือนทุกครั้ง


แม้ว่าโอลิมปิกโตเกียวปีนี้จะเป็นช่วงเวลาอันเงียบเหงาที่สุด เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่ไม่มีคนดูข้างสนามเลย แต่ข่าวคราวของการแข่งขันยังเข้ามาหนาแน่นเหมือนทุกครั้ง

โดยเฉพาะทีมนักกีฬาไทยที่คว้าเหรียญทองมาให้ชื่นชมกันได้ในวันแรก ๆ ของการแข่งขัน

รวมตลอดถึงดราม่าเรื่องชุดแข่งขันแบดมินตัน ของน้องเมย์-รัชนก อินทนนท์ ที่ตกรอบ 3 ไปแล้วหลังจากพ่ายให้ ไถ้ ซื่อหยิง มือ 1 ของโลกชาวไต้หวัน แม้จะใส่ชุดของโยเน็กซ์ ซึ่งทำให้ดูดีกว่าชุดลงแข่งของแกรนด์สปอร์ต แบรนด์ไทยในสองรอบแรกก็ตาม

ดราม่าของชุดกีฬาเกิดขึ้น แกรนด์สปอร์ตโดนวิจารณ์เรื่องชุดการแข่งขันว่า เชยและรุ่มร่าม ที่มีผลต่อสมรรถนะของนักกีฬา ที่มีคนเอาไปเทียบกับชุดแข่งประจำตัวที่เมย์-รัชนก ใช้ตอนแข่งเวิลด์ทัวร์ คือแบรนด์โยเน็กซ์ซึ่งมีความกระชับกว่านี้

การได้เห็น เมย์-รัชนก ต้องคอยถกแขนเสื้ออยู่เป็นประจำ รับรู้ได้ว่าไม่คล่องตัว และดูน่าอึดอัด ส่งผลให้นายกสมาคมฯ คุณหญิง ปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ต้องร้องขอให้ผู้บริหารของแกรนด์สปอร์ตแสดงสปิริตเห็นแก่นักกีฬา และผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ตัดใจยอมให้ใช้เสื้อแข่งยี่ห้ออื่นแทนได้ ซึ่งคือการทิ้งผลประโยชน์ของตัวเองที่จ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่ ธารา พฤกษ์ชะอุ่ม ซีอีโอของแกรนด์สปอร์ต ก็ยอมเป็น ”โมเมนต์เล็ก ๆ ที่มีความงดงาม”

ดราม่าดังกล่าวเป็นสีสันส่วนหนึ่งของการตลาดในการแข่งขันกีฬาที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่โอลิมปิกคราวนี้มีแง่มุมอื่น ๆ ให้กล่าวอีกหลายด้าน

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มีเฉพาะผู้ชมทางทีวีเป็นส่วนใหญ่คราวนี้ ถือว่าเป็นระเบิดร้ายแรงสำหรับผู้เสียภาษีชาวญี่ปุ่นและผู้จัดงานในท้องถิ่น (ซึ่งถูกเลื่อนออกไปจากปี 2020) เริ่มจากรายได้จากตั๋วหลายร้อยล้านดอลลาร์จะหายไป และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

พิธีเปิดในวันที่ 23 กรกฎาคมที่สนามกีฬาแห่งชาติใหม่มูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าบุคคลสำคัญ ผู้สนับสนุน เจ้าหน้าที่ IOC และคนอื่น ๆ จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมได้ ถือว่าน่าใจหาย เพราะผู้จัดงานคาดว่ารายได้จากการขายตั๋ว และอื่น ๆ จะหายไปประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ โดยคนแบกรับภาระคือรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใช้งบอย่างเป็นทางการ 15.4 พันล้านดอลลาร์ ในการแข่งขันโดยไม่รวมงบเกี่ยวข้องที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก และไม่รวมอีก 6.7 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินสาธารณะ

ความเสียหายของภาครัฐอาจจะน้อยกว่าความเสียหายของบรรดาผู้ประกอบการ ที่ต้องปิดบาร์ ร้านอาหาร และร้านคาราโอเกะ ที่ให้บริการเครื่องดื่มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ วิธีหยุดผู้คนที่เพลิดเพลินกับการแข่งขันกีฬาไม่ให้ออกไปดื่ม

จากการประเมินล่าสุดคาดเดาว่าญี่ปุ่นจะขาดทุนจากต้นทุนค่าใช้จ่าย 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ จากรายรับที่จะเข้ามาไม่เกิน 6.7 พันล้านดอลลาร์ หรือต่ำกว่า

บรรดาสปอนเซอร์รายใหญ่อย่าง โตโยต้า รวมทั้ง Coca-Cola, Airbnb, Alibaba, Visa. Intel และ General Electric ปฏิเสธที่จะแสดงโฆษณาทางทีวีในญี่ปุ่นและบางตลาดไปแล้ว

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะขาดทุนป่นปี้นับหมื่นล้านดอลลาร์ครั้งนี้ เกิดจากความจำเป็น เพราะการเลื่อนออกไปทำให้กระทบต่อการเงินที่รุนแรง จากรายได้ของ IOC หยุดชะงัก ได้รับเกือบ 75% จากการขายสิทธิ์ในการออกอากาศและประมาณการว่าจะสูญเสีย 3 พันล้านดอลลาร์ถึง 4 พันล้านดอลลาร์ หากถูกยกเลิกโดยสิ้นเชิง

แม้จะมีคำปลอบใจว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหลายครั้งไม่สร้างผลกำไรให้กับเมืองเจ้าภาพทันทีทันใด ตัวอย่างเช่น เกมที่ปักกิ่งในปี 2008 สร้างรายได้ 3.6 พันล้านดอลลาร์ แต่เมืองเจ้าภาพใช้เงินมากกว่า 40 พันล้านดอลลาร์ แต่อนาคตของโอลิมปิกที่ขาดทุนมหาศาลนี้ จะยิ่งขัดขวางชาติเล็กในการเป็นเจ้าภาพในอนาคตมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตัวอย่างจากกรีซ ที่ฟุบไม่ยอมฟื้นมาถึงทุกวันนี้เป็นต้นแบบที่เลวร้ายชวนสยองให้เห็นมาแล้ว

คำถามนี้ ใครจะกล้าตอบ ยังไม่ชัดเจน

Back to top button