เกินคาด หรือ เกินจริง

เดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เคยประเมินว่ากำไรสุทธิงวดสิ้นปีนี้ของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL จะทะยานขึ้นไปถึงระดับดีสุดในรอบ 5 ปี ที่ระดับมากถึง 1.5 หมื่นล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 5 เท่าเศษ หรือ 521% และ1.6 หมื่นล้านบาทในปีหน้า ตามลำดับ


เดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เคยประเมินว่ากำไรสุทธิงวดสิ้นปีนี้ของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL จะทะยานขึ้นไปถึงระดับดีสุดในรอบ 5 ปี ที่ระดับมากถึง 1.5 หมื่นล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 5 เท่าเศษ หรือ  521% และ1.6 หมื่นล้านบาทในปีหน้า ตามลำดับ

เพียงแต่กำไรสุทธิไตรมาสสองของ IVL ที่ระดับเกินคาด 8,339 ล้านบาท จากอานิสงส์ธุรกิจปิโตรเคมีระดับปลายน้ำพุ่งที่ตลาดต่างประเทศเพราะมีความต้องการสูง แถมยังคาดครึ่งปีหลังเดินหน้าทำกำไรต่อเนื่องส่งผลให้นักวิเคราะห์พากัน “เชียร์แขก” แนะให้ “ซื้อ” กันทั่วหน้า

บางรายไปไกลสุดกู่ให้ราคาเป้าหมายถึง 60 บาท…คำถามคือราคาที่ว่าเกินจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาในปี 2561 ที่ดีสุดของ IVL ราคาไม่เคยเกินกว่า 58.00 บาทเลย

IVL รายงานผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก มีกำไร 14,342 ล้านบาท โดยมี Core EBITDA เท่ากับ 477 ล้านดอลลาร์ (ผลการดำเนินงานของ IVOL 18 ล้านดอลลาร์ ถูกปรับปรุงไปยังรายการพิเศษ) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการกระจายตัวทั่วโลกขนาด และการเป็นผู้นำของบริษัทในทั้งสามกลุ่มธุรกิจ

รายได้จากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของทุกภูมิภาค โดย Core EBITDA ของทวีปอเมริกาและยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) เพิ่มขึ้น 59% ในครึ่งปีแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2563

ส่วนครึ่งปีหลังของปี 2564 ผู้บริหารคาดว่าจะคล้ายคลึงกับช่วงครึ่งปีแรก โดยจะเห็นทิศทางการเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่แข็งแกร่ง  จากการเปิดตัวการท่องเที่ยวเนื่องด้วยการได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันในวงกว้าง

บริษัทคาดว่าปริมาณการผลิตของกลุ่มธุรกิจ IOD จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังประเทศแถบยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งจีนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนมากขึ้น ทำให้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายและเริ่มกลับมาเปิดประเทศ จึงมีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น ตั้งงบลงทุนปีนี้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ตลาดในสหรัฐฯ ยุโรป และจีนถือเป็นตลาดที่จะผลักดันผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของ IVL กลับมาเติบโตได้เร็วขึ้น ขณะที่ส่วนต่างราคาขายผลิตภัณฑ์ (สเปรด) อยู่ในระดับสูง และส่งผลดีมากกับธุรกิจผลิต IOD ในสหรัฐฯ ที่มีมาร์จิ้นสูงขึ้น จากที่ระดับราคา Shell Gas ในปัจจุบันปรับขึ้นมาที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แต่บริษัทล็อกราคาต้นทุนไว้ที่ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ข่าวดีดังกล่าวช่วยปลอบขวัญนักลงทุนขาเล็กและใหญ่ที่เชื่อว่าตนเป็นวีไอ.ของ IVL ซึ่งมีวงจรชีวิตในรูป “ขึ้น 3 ปี ลง 3 ปี” ตามผลประกอบการของธุรกิจ (เรียกว่าเป็นสูตรสำเร็จกันเลยทีเดียวเริงร่ากันมากขึ้น เพราะจะได้เวลา “วงจรขาขึ้น” ระลอกใหม่ที่รอคอยมายาวนาน)

ที่สำคัญ พฤติกรรมนักเทคโอเวอร์กิจการข้ามประเทศระดับโลกของผู้ถือหุ้นใหญ่สุดและผู้บริหารอย่างนาย อาลก โลเฮีย ที่ยังคงเดินหน้าทำตัวเป็นนักล่ากิจการระดับโลกที่ “ฉลาดซื้อ” ตามเงื่อนไขและจังหวะจะเปิดให้

ในอดีต ผลจากการเข้าทุ่มเงินซื้อกิจการในกลุ่มโพลีเอสเตอร์ และบรรจุภัณพ์พลาสติก อันเป็นปิโตรเคมีปลายน้ำเสมือน “ปอกกล้วยเข้าปาก” ของ IVL ทำให้กิจการเติบโตต่อเนื่องมีสินทรัพย์หลายแสนล้านบาท บางปีก็มาก บางปีก็น้อย แต่แทบไม่เคยมีปีไหนเลยที่ไม่มีการควบรวมกิจการ

ปีนี้ ถือว่าดีลซื้อกิจการเพิ่มของ IVL มีน้อยมาก ล่าสุดเพิ่งจะสำเร็จเสร็จสิ้น (ซึ่งจะมีการบันทึกเข้ามาในไตรมาสสองนี้เอง) คือการเข้าซื้อโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (PET) และบริษัทย่อยในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 68.2 ล้านดอลลาร์ และกำลังเจรจาซื้อกิจการในบราซิล โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนสุทธิที่มีอยู่เหลือเฟือ ไม่ต้องกู้เงินให้เสียดอกเบี้ย

ปฏิบัติการควบรวมกิจการจะทำให้การเติบโตไม่หยุดชะงัก แม้อัตรากำไรสุทธิของ IVL ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเกินระดับ 8% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำสำหรับบริษัทโฮลดิ้งส์….แต่จุดอ่อนนี้นักวิเคราะห์มองข้ามไปเมื่อการเติบโตเชิงปริมาณยังดำเนินต่อไปหักกลบจุดอ่อนได้สนิท

ปีนี้เป็นปีพิเศษของ IVL เพราะเป็นจังหวะดีที่บริษัทมีผลประกอบการเข้าข่ายเทิร์นอะราวด์พอดี แต่ราคาหุ้นซึ่งวิ่งวนไปมาแถว 40.00 บาทนานกว่า 2 เดือนแล้ว จะไปได้ไกลแค่ไหน ยังต้องรอดู “ขาใหญ่” ทั้งหลายว่าจะลุยเมื่อใด

ถึงเวลาเมื่อใด ขาประจำระดับแมงเม่าจะรู้ได้ดีว่า ไม่มีรายการ “พาคนไปตาย” แน่นอน

Back to top button