‘เงินเฟ้อ’ รุนแรงถาวร

ช่วงนี้ได้ยินว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นและจะทำให้เกิดเงินเฟ้อที่จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชนทั่วทุกมุมโลก


ช่วงนี้ได้ยินแต่เสียงเตือนว่า ราคาสินค้าจะสูงขึ้นและจะทำให้เกิดเงินเฟ้อที่จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชนทั่วทุกมุมโลก การคาดการณ์ส่วนใหญ่ชี้ไปในทางที่ว่า ภาวะเงินเฟ้อจะไม่บรรเทาลงในเร็ว ๆ นี้ และอาจจะกินเวลาไปจนถึงปีหน้า

อลัน โจเป้ ซีอีโอยูนิลีเวอร์ เตือนว่า เงินเฟ้อจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า และยูนิลีเวอร์ได้ประกาศขึ้นราคาสินค้าในช่วงไตรมาสสามประมาณ 4.1% เพื่อชดเชยต้นทุนโภคภัณฑ์และวัตถุดิบที่สูงขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากยูนิลีเวอร์ซึ่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมากมายหลายชนิดแล้ว  เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าจำนวนมากตั้งแต่เนสกาแฟ จนถึง ฮาเก็น ดาส ก็ได้ขึ้นราคาสินค้าประมาณ 2.1% เป็นส่วนใหญ่ในช่วงไม่กี่ไตรมาสมานี้ และยังย้ำว่า จะขึ้นราคาสินค้าตามความจำเป็นในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า เนื่องจากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น

ปัญหาของผู้ผลิตเหล่านี้ คือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเนื่องจากเกิดปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานแต่ความต้องการสินค้าจำนวนมาก ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทจำเป็นต้องขึ้นค่าแรงเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และไหนจะมีปัญหาค่าขนส่งและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอีก

นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายได้ถกเถียงกันว่าเงินเฟ้อจะเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวที่เดี๋ยวมันจะลดลงและผ่านไปเมื่อการระบาดของไวรัสโคโรนาซาลงหรือ จะเกิดขึ้นเป็นการถาวร

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ และผู้บริหารบริษัทหลายคนเชื่อว่า เงินเฟ้อเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวและจะดีขึ้นโดยตัวของมันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจมี ดิมอน ซีอีโอของเจพี มอร์แกน มองว่า มีการพูดถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานกันเว่อร์วังเกินไป และเชื่อว่าจะดีขึ้นในปีหน้า

แต่ในขณะนี้หลายคนเริ่มไม่คิดเช่นนั้นแล้ว!

ผลสำรวจความเห็นหัวหน้าฝ่ายการเงินส่วนใหญ่ของ Fuqua School of Business ของมหาวิทยาลัยดุ๊กในสหรัฐฯ และผลสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐใน ริชมอนด์ และแอตแลนต้า ชี้ว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่คิดว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งหลังของปีหน้า หรืออาจจะนานกว่านั้น

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางบางแห่งก็กำลังเปลี่ยนความเห็นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ฮิว พิลล์ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของธนาคารกลางอังกฤษเตือนว่า เงินเฟ้อของอังกฤษอาจจะสูงกว่า 5% ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางอังกฤษไม่สบายใจมากที่เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่ 2%

เสียงเตือนเรื่องเงินเฟ้อที่น่ากลัวที่สุด น่าจะมาจาก แจ็ก ดอร์ซีย์ ซีอีโอ ทวิตเตอร์และสแควร์ เนื่องจากถึงขนาดคาดการณ์ว่า จะเกิดภาวะ “Hyperinflation” ในสหรัฐฯ และในโลกในเร็ว ๆ นี้

นักเศรษฐศาสตร์นิยามภาวะ Hyperinflation เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ต่อเดือน ภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ. 2466 เมื่อธนบัตรมีมูลค่าสูงสุด 1 ร้อยล้านล้านมาร์คจากที่มีมูลค่าสูงสุด 50,000 มาร์ค ในปี 2465 และในเดือนธันวาคม ปี 2466 เงินดอลลาร์สหรัฐ 1 ดอลลาร์ สามารถแลกเงินมาร์คได้ถึง ได้ 4.2 ล้านล้านมาร์ค จากที่มีมูลค่าเพียง 4.2 มาร์คต่อดอลลาร์ในปี 2457

การทวิตเตือนของดอร์ซีย์ที่ว่าเงินเฟ้อมันกำลังจะรุนแรงมากขึ้นนั้น  เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ข้อมูล เงินเฟ้อราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 30 ปี และมีความกังวลมากขึ้นว่า ปัญหาเงินเฟ้ออาจเลวร้ายกว่าที่เฟดได้คาดการณ์ไว้

ในวันศุกร์ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ก็ ยอมรับว่าแรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้และจะเพิ่มขึ้น ไปจนถึงปีหน้า พร้อมกับคาดว่าเฟดจะเริ่มยกเลิกมาตรการพิเศษที่ได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีเคธี่ วูด นักลงทุนนวัตกรรมและผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท อาร์ค อินเวส ได้ออกมาโต้ทฤษฎี Hyperinflation ของดอร์ซีย์ ว่า ราคาจะลดลงหลังวันหยุด

นอกจากนื้ ดูเหมือนว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็มั่นใจว่า สหรัฐฯ จะคุมเงินเฟ้อได้ และคาดว่า เงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับปกติภายในช่วงครึ่งหลังของปี

ไม่ว่าเงินเฟ้อจะมาชั่วคราวหรือถาวร แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ มักจะมีแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยี และแรงเทขายพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น จนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น

แต่ที่เราเห็นหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในต่างประเทศยังคงปรับตัวขึ้นได้ในช่วงนี้ เป็นเพราะว่า นักลงทุนรอผลประกอบการของหุ้นเทคโนโลยีที่จะมีการแถลงในสัปดาห์นี้ มากกว่าที่จะมองข้ามและไม่กลัวอันตรายจากเงินเฟ้อเอาเสียเลย

Back to top button