AEONTS ราคาถูก พื้นฐานดี!

การคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อีกครั้ง กลายเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้ AEONTS กลับมาฟื้นตัวโดดเด่น


คุณค่าบริษัท

การคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อีกครั้ง บวกกับการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอน ซึ่งแม้จะติดเชื้อได้ง่าย แต่อาการไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ภาครัฐไม่ได้กลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง กลายเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ซึ่งทำธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ จะกลับมาฟื้นตัวโดดเด่น

หลังจากงบงวดไตรมาส 3 ปี 2564/2565 (ก.ย.-พ.ย. 2564) พลาดท่าทำกำไรสุทธิหล่นหายไป 19% เหลือแค่ 814 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,009 ล้านบาท และมีรายได้รวม 5,211 ล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 5,257 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสํารองสูงเกินคาด โดยคิดเป็น credit cost ที่ 8% ในไตรมาส 3 ปี 2564/2565 และ 7.6% ในงวด 9 เดือนแรกปี 2564/2565

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินกันว่า แนวโน้มผลประกอบการของ AEONTS จะดีขึ้น จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มากขึ้น รวมทั้งความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การกันสำรองจะค่อย ๆ กลับสู่ระดับปกติ หลังจากได้ตั้งสำรองสูงในช่วงที่ผ่านมา คาดกำไรปี 2564/2565 (ปิดงบเดือน ก.พ.) เติบโต 13%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ล่าสุด AEONTS มีประเด็นใหม่ที่น่าจับตา จากกรณีการแตกพาร์ เนื่องจากปัจจุบันซื้อขายกันเกือบ 200 บาท ซึ่งถูกมองว่าสูงเกินไปสำหรับนักลงทุนรายย่อย ทำให้นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่า หากบริษัทตัดสินใจแตกพาร์ จะทำให้ราคามีความน่าสนใจมากขึ้น โดยหากแตกพาร์ จาก 1 บาท เหลือ 50 สตางค์  ราคาเป้าหมายก็จะเหลือ 125 บาท

ขณะที่แตกพาร์จาก 1 บาท เหลือ 10 สตางค์  ราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 25 บาท และหากเทียบกับราคากระดานก็จะเหลือเพียง 20 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ AEONTS กลายเป็นหุ้นขวัญใจมหาชนขึ้นมาทันที อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร AEONTS ว่าต้องการให้หุ้นเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้นหรือไม่

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น AEONTS ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 12.97 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 21.12 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายต่ำกว่าตลาดมาก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจาก P/BV ที่ระดับ 2.65 เท่า ก็อาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ส่วนใหญ่ P/BV จะอยู่ที่ระดับ 1–2 เท่า ขณะที่มีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 225.00 บาท จากราคาต่ำสุด 210.00 บาท และราคาสูงสุด 240.00 บาท

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

  1. AEON FINANCIAL SERVICE CO., LTD. 87,800,000 หุ้น 35.12%
  2. บริษัท เอซีเอส แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด 48,000,000 หุ้น 19.20%
  3. บริษัท อิออน โฮลดิ้งส์ (ไทยแลนด์) จำกัด  22,000,000 หุ้น 8.80%
  4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 18,411,973 หุ้น 7.36%
  5. นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ 14,700,000 หุ้น 5.88%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายมิทสึงุ ทามาอิ ประธานกรรมการบริษัท
  2. นายซึโทะมุ โอโมะเดะระ รองประธานกรรมการ, กรรมการผู้จัดการ
  3. นางสุพร วัธนเวคิน กรรมการ
  4. นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการ
  5. น.ส.สุริพร ธรรมวาทิตย์ กรรมการ

Back to top button