เทสลาลุยตลาดอีวีเมืองไทย

การเข้ามาในประเทศไทยของเทสลาแม้เบื้องต้นจะเป็นเพียงแค่ “การขายรถ” แต่เป็นการตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยน่าจะมุ่งไปทาง EV


เส้นทางนักลงทุน

สร้างกระแสตื่นตัวในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขึ้นทันที เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก อย่าง “บริษัท เทสลา” (Tesla) ของมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” ภายใต้ชื่อ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 3 ล้านบาท จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด แห่งนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออล ซีซั่นส์ เพลส ห้องเลขที่ 2319 ชั้นที่ 23 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

สำหรับวัตถุประสงค์การจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย คือ ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าเป็นการ “ขายรถ” เท่านั้น ยังไม่ถึงกับมาประกอบรถในไทย

เป็นที่น่าสนใจว่ารายชื่อคณะกรรมการแต่ละคนที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัท เทสลา และนับเป็นผู้บริหารที่เชี่ยวชาญตลาดเกิดใหม่ทั้งสิ้น ได้แก่ 1.เดวิด จอน ไฟน์สไตน์ (David Jon Feinstein) ตำแหน่ง Global Senior Director-Trade Market Access 2.ไวภา ตเนชา (Vaibhav Taneja) ผู้บริหารระดับสูงด้านการเงิน (Chief Accounting Officer) และเคยเป็นผู้อำนวยการของ Tesla India Motors and Energy Private Limited ในช่วงเดือนมกราคม 2564 3.ยารอน ไคลน์ (Yaron Klein) ผู้บริหารด้านทรัพย์สินของ Tesla และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของบริษัทลูกอย่าง Tesla Energy Operations

การเข้ามาของเทสลาครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายใหม่ของรัฐบาลไทยที่ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก

โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 นั่นคือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573

รัฐบาลตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน รวมทั้งยังมีการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบราง

รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน

ตลอดจนกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast Charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี

อีกทั้งมีมาตรการส่งเสริม ZEV ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แผนส่งเสริมผู้ประกอบการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และแผนตการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรและกำลังคน

รัฐบาลมีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบให้ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (Completely Built Up : CBU) โดยลดภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า CBU ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท ลดสูงสุด 40% ขณะที่ราคาขายตั้งแต่ 2-7 ล้านบาท ลดลงสูงสุด 20% ในช่วง 2 ปี คือปี 2565-2566

แน่นอนว่าการตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เทสลา (ประเทศไทย) เพื่อ “ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า” จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยคึกคักขึ้นมาไม่มากก็น้อย รวมทั้งยังต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วการเข้ามาของเทสลา จะเป็นเพียงแค่การเข้ามาตั้ง “โชว์รูม” นำรถยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาขาย หรือจะตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตแห่งที่ 6 ในประเทศไทยด้วยในอนาคต

เทสลามีโรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาสำหรับการผลิตหรือประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย 1.โรงงาน Tesla Fremont Factory ในฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย 2.โรงงาน Tesla Gigafactory 1 ในรีโน รัฐเนวาดา 3 .โรงงาน Tesla Gigafactory 3 ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน 4.โรงงาน Tesla Gigafactory 4 ในเบอร์ลิน เยอรมนี และ 5.Tesla Gigafactory 5 ในออสติน รัฐเท็กซัส ส่วน Tesla Gigafactory 2 ในนิวยอร์ก ดำเนินธุรกิจเฉพาะการพัฒนาโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ปัจจุบันเทสลาดำเนินการผลิตรถอยู่ 4 รุ่น ได้แก่ 1.Tesla Model S ราคาเริ่มต้น 3.1 ล้านบาท 2.Tesla Model X ราคาเริ่มต้น 3.6 ล้านบาท 3.Tesla Model 3 ราคาเริ่มต้น 1.4 ล้านบาท และ 4.Tesla Model Y ราคาเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท โดยในอนาคตจะเริ่มกระบวนการผลิตรถรุ่นอื่น ๆ อีก ได้แก่ Tesla Roadster (Gen 2), Tesla Semi และ Cybertruck

หากในอนาคตเทสลามีการตั้งโรงงานผลิตในไทยจริง จะมีข้อดีคือ จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่ใน 2 ปีแรก ทั้งส่วนลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิต

นอกจากนี้ จะมีกลุ่มธุกิจที่จะได้อานิสงส์จากการเข้ามาของเทสลา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ทางตรง เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่เทสลาจะตัดสินใจเข้าไปตั้งโรงงาน กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้ในรถ EV และสถานีชาร์จ ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม เช่น ท่าเรือนำเข้าและส่งออก เป็นต้น

แต่ต้องยอมรับว่าจะมีกลุ่มที่อาจจะเสียประโยชน์ด้วย อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป กลุ่มที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์และลีสซิ่ง เพราะราคารถมือสองอาจถูกลง รวมถึงกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปั๊มน้ำมันจากยอดขายที่ลดลง

การเข้ามาในประเทศไทยของเทสลาแม้เบื้องต้นจะเป็นเพียงแค่ “การขายรถ” แต่เป็นการตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยน่าจะมุ่งไปทาง EV อย่างแน่นอน

และการเข้ามาในประเทศไทยของเทสลาท่ามกลางภาวะที่ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ก็จะทำให้กระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน แต่นั่นต้องอยู่ภายใต้การขายรถยนต์ไฟฟ้าในระดับราคาที่ “จับต้อง” ได้ด้วย

จึงต้องมาลุ้นกันว่า เมื่อเทสลาเปิดให้บริการ “ขายรถ” ในเมืองไทย เราจะมีโอกาสซื้อรถไฟฟ้าเทคโนโลยีสูงของเทสลาได้หรือไม่

Back to top button