รัฐขย่มตลาดหุ้น

นอกจากเรื่องปัจจัยภายนอก เช่น เฟดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นไทย ยังเผชิญกับปัจจัยภายในที่มาจาก “อำนาจรัฐ” คือ “ภาษี (ขาย) หุ้น” และการขอให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันลด “ค่าการกลั่น”


นอกจากเรื่องปัจจัยภายนอก เช่น เฟดขึ้นดอกเบี้ย

ตลาดหุ้นไทย ยังเผชิญกับปัจจัยภายในที่มาจาก “อำนาจรัฐ” คือ “ภาษี (ขาย) หุ้น” และการขอให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันลด “ค่าการกลั่น” ลงมา

ประเด็นเรื่องของภาษีหุ้นยังคงสร้างความกังวลให้นักลงทุน

ล่าสุด อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันยังคงเดินหน้าการเก็บภาษีหุ้นต่อไป

เห็นว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้

แต่ครม.จะว่าอย่างไรต่อนั้น เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย

ตรงนี้ยากที่จะคาดการณ์

ก่อนหน้านี้ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ที่เคยเป็นประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

เป็นตัวแทนของทางด้านตลาดทุน พยายามที่จะให้ข้อมูลกับทางกระทรวงการคลังมาโดยตลอดถึง “ข้อเสีย” (ได้ไม่คุ้มเสีย) หากรัฐเดินหน้าเก็บภาษีหุ้น

ทว่าดูเหมือนทางคลังไม่ได้สนใจ

กระทั่งผ่านมาถึง “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ที่เข้ามารับไม้ต่อจากคุณไพบูลย์ นลินทรางกูร

ล่าสุดยังไม่มีความเห็นจากคุณกอบศักดิ์ ในฐานะประธาน FETCO

ภาษีหุ้นที่ทางคลังเดินหน้าเก็บต่อไป

ข้อมูลเบื้องต้นคือ เก็บจากภาษี “ฝั่งขาย” อัตราร้อยละ 0.11% (รวมภาษีธุรกิจเฉพาะ)

สรุปง่าย ๆ ไม่ว่านักลงทุนจะขายหุ้นออกแบบมีกำไรหรือขาดทุน

แต่เมื่อขายออกมาแล้ว จะถูกจัดเก็บภาษีทันที 0.11% ไม่มีกำหนดขั้นต่ำของการขาย

การเรียกเก็บภาษีแบบนี้

เป็นห่วงกันว่า นักงทุนอาจจะทยอยปรับพอร์ตออกจากตลาดหุ้นไทย

ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนบางประเทศ และอาจจะรวมถึงนักลงทุนรายย่อย

เพราะเมื่อดีดลูกคิดคำนวณกันออกมาแล้ว

อาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน

ขณะเดียวกัน ถูกมองด้วยว่า ไม่ค่อยมีความยุติธรรม เพราะการจัดเก็บภาษีหุ้นในครั้งนี้ ไม่ได้สนใจว่า นักลงทุนจะมีกำไรหรือขาดทุน

ยอดธุรกรรมที่ลดลง อาจจะส่งผลต่อไปยังผลประกอบการของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)

และการระดมทุน (IPO) ของบริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

อีกประเด็นคือเรื่องที่รัฐบาลพยายามเข้ามาแทรกแซงค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด) จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมีจำนวน 7 แห่ง

1.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC

2.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP

3.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC

4.บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC

5.บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO

6.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ BCP

และสุดท้ายคือ 7.โรงกลั่นน้ำมันฝาง (กำลังการกลั่นน้ำมัน 2,500 บาร์เรล/วัน) อยู่ในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT)

รัฐบาลเห็นว่าค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันต่าง ๆ สูงเกินไป และพยายามขอความร่วมมือ (หรืออาจจะกึ่งขอร้อง กึ่งบังคับ) ให้ช่วยลดค่าการกลั่นลงมา

ผลปรากฏว่า ราคาหุ้นโรงกลั่นน้ำมันต่างพากันร่วงอย่างรุนแรง

นักวิเคราะห์ต่างมองว่า นี่คือการแทรกแซงที่น่าเกลียดของรัฐบาล

รัฐบาล หากต้องการลดราคาน้ำมันลงมา ควรจะพิจารณาเรื่องของลดภาษีมากกว่าที่จะมาบีบให้เอกชนลดกำไรลง

กำไรจากค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันที่เกิดขึ้นในเวลานี้

ถือว่าเป็นไปตาม “กลไกการตลาด”

ในช่วงที่โรงกลั่นน้ำมันมีกำไรเพิ่ม กลับถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาล

ทว่า ในช่วงที่โรงกลั่นน้ำมัน “ขาดทุน” (ปี 2563 ขาดทุนนับหมื่นล้านบาท) จากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รัฐบาลกลับไม่ได้มาสนใจ

นัยสำคัญว่าเป็นเรื่องของเอกชน

นี่เป็น 2 ปัจจัย (ภายใน) หลัก ๆ ที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ

และทำให้ตลาดหุ้นทรุดในเวลานี้

Back to top button