พาราสาวะถี

ไม่จำเป็นที่จะต้องไปตีโพยตีพาย โวยวายอะไรกับการที่พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ลากตั้งจับมือกันโหวตเลือกวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วยสูตร 500


ไม่จำเป็นที่จะต้องไปตีโพยตีพาย โวยวายอะไรกับการที่พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ลากตั้งจับมือกันโหวตเลือกวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วยสูตร 500 เพราะมันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของพรรคสืบทอดอำนาจและผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ได้อยู่ในฐานะได้เปรียบ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชวนกันขีดเส้นใต้ต่อข้อกล่าวหาของฝ่ายที่ทำให้ใช้สูตรหาร 500 สำเร็จว่า ถ้าหาร 100 แล้วจะได้ “เผด็จการรัฐสภา” แล้วที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ “รัฐสภา (ขี้ข้า) เผด็จการ” อย่างนั้นหรือ

ประเด็นนี้ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย มองว่า การที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันมาตลอดการคิดสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต้องเอา 100 หาร แต่วันสุดท้ายมากลับมติเป็นเอา 500 หาร ไม่มีเหตุผลใดรองรับ นอกจากต้องบอกว่านี่คือมติของ “เผด็จการเสียงข้างมาก” อย่างแท้จริงเกิดขึ้นแล้ว และสะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาไม่ตกผลึกในความคิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญ กว่าจะแก้ไข จะมีการคิดอย่างรอบคอบจนตกผลึกแล้ว มิใช่มาคิดกันชั่วข้ามคืน

ไม่รู้ว่าสิ่งที่นิพิฏฐ์ตั้งเป็นคำถามส่งท้าย เป็นการถามไปยังสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์อดีตต้นสังกัดของตัวเอง ที่ทำหน้าที่ ส.ส.อยู่ในสภา หรือถามคนโดยทั่วไปหรือพวกสลิ่ม พวกต่อต้านเผด็จการรัฐสภาอุปโลกน์ที่ว่า อดีตหากครั้งหนึ่งเราเคยต่อต้านเผด็จการเสียงข้างมาก แต่มาครั้งนี้เราไม่ต่อต้านเหมือนในอดีต “เราก็แปลงร่างเป็นเผด็จการเสียงข้างมากไปแล้ว” เรื่องในสภาจบไปแล้ว แต่ยังจะมีปมให้ต้องยื่นตีความกันอีกแน่นอนสำหรับกรณีนี้

อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนถึงเจตนารมณ์ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบก่อนหน้านี้ สูตรของการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ควรที่จะเป็นการหารด้วย 100 คนจำนวนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามที่ได้มีการแก้ไข ไม่ใช่การหารด้วย 500 ตามจำนวน ส.ส.ทั้งสภา ในประเด็นนี้ความเห็นจาก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น่าสนใจกับคำถามที่ว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 กับ หาร 100 แตกต่างกันอย่างไร และทำไมเป็นเรื่องใหญ่

ถ้าใช้จำนวนคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วคือ 24 มีนาคม 2562 จำนวน 35,561,556 คะแนนมาคำนวณ ถ้าหารด้วย 100 จะเท่ากับ 355,615 คะแนน ขณะที่หารด้วย 500 จะเท่ากับ 71,123 คะแนนเท่านั้น ดังนั้น พรรคเล็กที่เคยได้เฉพาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจึงต้องการสูตรหาร 500 เพราะเพียงแค่ได้ 71,123 คะแนน จะได้ ส.ส.หนึ่งคน ขณะที่หารด้วย 100 ต้องได้คะแนนถึง 355,615 คะแนน จึงจะได้ ส.ส.หนึ่งคน ซึ่งมากกว่าถึง 5 เท่า

คำถามคือ ทำไมฝั่งรัฐบาล ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาที่อาจจะได้ ส.ส.ลดลงจากสูตรนี้ จึงอยากจะเปลี่ยนสูตรจากหาร 100 มาเป็นหาร 500 เดิมพรรคพลังประชารัฐ คาดว่าตนเองจะได้เปรียบ แต่พอไม่มี ธรรมนัส พรหมเผ่า และพรรคอยู่ในสถานการณ์แพแตก จึงรู้ว่าตนเองไม่ได้เปรียบอีกต่อไปแล้ว แต่พรรคที่จะได้เปรียบคือเพื่อไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งในระบบนี้มาแล้ว 4 ครั้ง โดยเป็นแลนด์สไลด์คือเกินครึ่งถึง 2 ครั้ง

ดังนั้น การเปลี่ยนใจมาหาร 500 จึงวิเคราะห์ได้ว่า เพื่อลดความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทย หรือถ้าใช้คำแบบสื่อ คือ เพื่อสกัดแลนด์สไลด์นั่นเอง ความจริงแล้ว การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เป็นหลักการของระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี มีเจตนารมณ์ให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมี ส.ส.ในสภาตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตามคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเป็นคะแนนที่เลือกพรรค แต่ปัญหาของเราในขณะนี้คือไม่ได้ตั้งใจจะหารด้วย 500 มาตั้งแต่แรก

เพราะถ้าจะใช้ระบบแบบเยอรมนี จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อควรต้องมีมากกว่า 100 คน อย่างน้อยควรต้องมี 150 คนเท่ากับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาก็คือ การใช้จำนวน 500 หาร แต่มีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้จัดสรรเพียง 100 จะเกิดปมที่ว่าจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคจะรวมกันเกิน 100 ที่นั่งแน่นอน แล้วจะทำอย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 100 ที่นั่งเท่านั้น เมื่อเคาะสูตรแบบนี้ก็ต้องเขียนเพิ่มลงไปด้วยว่า ในกรณีที่คำนวณแล้วจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับมียอดรวมเกิน 100 คนให้ปรับลดลงตามสัดส่วนให้เหลือไม่เกิน 100 ที่นั่ง

นั่นเป็นปมปัญหาทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับขบวนการสืบทอดอำนาจที่มีทั้งเนติบริกรศรีธนญชัยและซามูไรกฎหมาย แต่คำถามในมิติทางการเมือง การหักคอเปลี่ยนสูตรคำนวณแบบนี้จะสกัดแลนด์สไลด์เพื่อไทยได้จริงหรือ สมชัย ศรีสุทธิยากร เตือนสติแรง ๆ ว่า ภายใต้ระบบนี้พรรคที่ชนะในระบบเขตมากจะได้บัญชีรายชื่อน้อยลง ส่วนพรรคที่แพ้เลือกตั้งในระบบเขต หากมีคะแนนนิยมในบัตรใบที่สองมากจะได้รับการจัดสรร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อมาก

พรรคที่อาจได้ประโยชน์จากระบบนี้มากที่สุดคือพรรคก้าวไกล เพื่อไทยแม้ว่าจะได้บัญชีรายชื่อน้อยลง แต่จะไม่ถึงขนาดเป็นศูนย์ เพราะคราวก่อนเป็นระบบบัตรใบเดียว และพรรคส่งผู้สมัครเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนเขตทั้งหมด หากคราวนี้ส่งลงครบ 400 เขต น่าจะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้จำนวนหนึ่ง พรรคจิ๋วที่คิดว่าจะได้อานิสงส์จากระบบนี้ อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเค้กก้อนเล็กลง  แม้คะแนนเฉลี่ยเบื้องต้นคือ ประมาณ 70,000 คะแนน แต่การคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากทุกพรรคในรอบแรกจะเกินจำนวน 100 คน

ดังนั้น ต้องใช้บัญญัติไตรยางค์เพื่อปรับให้ลงมาเป็นร้อยคน  คะแนนต่ำสุดจึงอาจสูงขึ้นโดยอาจต้องมีคะแนนเสียง 100,000 เสียงจึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่าประเด็นที่ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าโจทย์ไม่ได้ง่ายเหมือนครั้งที่แล้ว การเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนจะพิจารณาถึงปัญหาความเดือดร้อนในปัจจุบัน และมองหาคนที่จะเข้ามาแก้ไขได้อย่างแท้จริง การเลือก ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ ย่อมจะรอบคอบ รัดกุมมากขึ้น เพราะมันหมายถึงประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

Back to top button