Stagflation สัญญาณเตือนภัย.!

ที่น่ากังวลสินค้าหรือวัตถุดิบการผลิตสำคัญของไทย ต้องอาศัยการนำเข้า ทำให้ต้นทุนราคาสูงขึ้น ซ้ำเติมด้วยเงินบาทอ่อนค่า ยิ่งตอกย้ำต้นทุนแพงมากขึ้น


ปรากฏการณ์เงินเฟ้อ (Inflation) สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจาก ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 9.1% ในเดือน มิ.ย.เป็นระดับสูงสุดรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.8% ขณะเดียวกันดัชนี CPI พื้นฐาน ที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.9% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.8%

นั่นจึงทำให้วิตกกังวลกันว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว กำลังนำไปสู่การเกิดภาวะ Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น) อีกครั้งหรือไม่.!?

โดย Stagflation เป็นการรวบคำระหว่างคำว่า Stagnation (ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว) กับคำว่า Inflation (ภาวะเงินเฟ้อ) เข้าด้วยกัน นั่นหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ช่วงเวลาเดียวกันกับเกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ มาแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1970 ที่อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 12% ขณะที่อัตราการว่างงานเกือบ 9% จากวิกฤติราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับสูงขึ้นกว่า 400% สืบเนื่องมาจากกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันดิบ (OPEC) รวมทั้งประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบ 2 ช่วงคือช่วงแรก (ปี 1971-1974) ช่วงที่สอง (1979-1980) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อต้นทุนการผลิตเกือบทุกด้าน เป็นผลทำให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงช่วงปี 1980-1982

นั่นจึงเป็นผลทำให้เกิด ระบบเศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ (stagnation) พร้อมกับเกิดภาวะเงินเฟ้อ (inflation) ที่เรียกรวมกันว่า ภาวะ stagflation ทำให้ แนวคิด Supply-Side Economics จึงถูกนำมาใช้เพื่อเป็นหนทางเลือกของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงปี 1980 แทนนโยบายด้าน Demand-Side Economics ของ Keynes ที่เคยใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำช่วงทศวรรษ 1930

ภาวะ Stagflation เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก การเข้าสู่ Stagflation เป็นภาวะที่แก้ปัญหายาก หากมุ่งแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งจะเป็นการสร้างอีกปัญหาหนึ่งไปโดยปริยาย ที่สำคัญไม่มีสถาบันเศรษฐศาสตร์ใดสามารถให้คำตอบได้ชัดเจนว่า วิธีการแก้ไข Stagflation จะใช้นโยบายใดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ มีมุมมองสอดคล้องกันว่า การแก้ไข Stagflation คือการดำเนินนโยบายให้ผลผลิตเติบโตไปจนถึงจุดสูงสุดให้ได้ โดยไม่เพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ผลักดันกำลังซื้อในประเทศ ด้วยนโยบายการคลังด้านภาษี และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ อย่างรัดกุม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยตรง ทำให้เกิดการถดถอยซ้ำซากของเศรษฐกิจไทย และเมื่อดูจากนิยามภาวะ Stagflation น่าเป็นห่วงว่าประเทศไทย กำลังเริ่มต้นเผชิญหน้ากับภาวะดังกล่าวอยู่หรือไม่

นั่นหมายถึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Stagflation คือการที่เศรษฐกิจต้องดีขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติและเปิดประตูรับต่างชาติได้เร็วที่สุด ด้วยรายได้ประเทศกว่าครึ่งช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 มาจากรายได้ภาคการท่องเที่ยว

ที่น่ากังวลสินค้าหรือวัตถุดิบการผลิตสำคัญของไทย ต้องอาศัยการนำเข้า ทำให้ต้นทุนราคาสูงขึ้น ซ้ำเติมด้วย “เงินบาทอ่อนค่า” ยิ่งตอกย้ำต้นทุนแพงมากขึ้น

..จึงน่าสนใจว่าไทย..จะรับมือกับภาวะ Stagflation นี้อย่างไร..?

Back to top button