พาราสาวะถี

แนวโน้มของการวินิจฉัยปม 8 ปีบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจัดวาระประชุมนัดพิเศษในวันที่ 8 กันยายนนี้


แนวโน้มของการวินิจฉัยปม 8 ปีบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจัดวาระประชุมนัดพิเศษในวันที่ 8 กันยายนนี้ ด้วยเหตุผลว่าได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกร้อง และพยานสำคัญอีก 2 ปากคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ กับ ปกรณ์ นิลประพันธ์ ประธานและเลขานุการ กรธ.เรียบร้อยแล้ว ถูกมองไปในทิศทางที่ว่า “รอดมากกว่าไม่รอด” ด้วยเหตุที่ว่าถ้าน้ำหนักการตัดสินอยู่ที่คนสองคนที่เป็นผู้เขียนกฎหมายสูงสุดโดยตรง ทุกอย่างก็คงจบตามธงที่วางไว้

แต่นั่นมันจะต้องแลกมากับการถูกมองว่าเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอยของอดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นคนพูดไว้เองอย่างชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการจัดทำบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าการนับวาระนายกรัฐมนตรีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ให้นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ไปจนครบ 8 ปี โดยที่รองประธาน กรธ.ก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน และที่ประชุม กรธ.ก็มีมติไปในทิศทางเช่นนั้น

หากคำชี้แจงที่ส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอธิบายไปอีกทาง ก็น่าตั้งคำถามว่าคนอายุปูนนี้แล้ว คำว่าสัจจะไม่เคยมีอยู่ในหัวเลยหรืออย่างไร สิ่งสำคัญ คือ บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นถือว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยที่คณะผู้ร่างในเวลานั้นต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความสำคัญ และมีความหมายต่อการตีความรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่มีใครต้องมาถกเถียงกันภายหลังว่าแต่ละมาตราที่กำหนดมานั้น คณะผู้ร่างต้องการให้เป็นไปแบบไหน

อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนซึ่งถูกมองว่าเป็นเนติบริกรชั้นครูจะกลับคำ เพราะลูกศิษย์ที่เป็นเนติบริกรระดับแนวหน้ามีลูกศิษย์ลูกหานับหน้าถือตาทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ได้ทำลายความเป็นครูบาอาจารย์ของตัวเองไปหมดสิ้นจากการรับใช้อำนาจเผด็จการสืบทอดอำนาจแบบไม่ลืมหูลืมตา ช่วยกันตะแบงมานานกว่า 8 ปี และหนนี้ก็คงไม่แตกต่างกัน ส่วนผลที่จะตามมาถ้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ไปต่อแล้วเกิดการลุกฮือของมวลชน ก็จะถูกตีตราว่าคนเหล่านั้นไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมาย

ทั้งที่ความจริงก็รู้กันอยู่ว่ากฎหมายที่เขียนกันขึ้นมานั้นเพื่อใคร พวกไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปีนั้น ถ้าบทสรุปจบลงด้วยการได้ไปต่อของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ “การเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า” นั่นเอง แต่หากเข้าใจในกลไกที่ได้วางกันไว้ของขบวนการสืบทอดอำนาจแล้ว ก็ต้องยอมรับสภาพว่ามันต้องเป็นเช่นนี้แล ลำพังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจการได้ไปต่อท่ามกลางการไม่ยอมรับจากประชาชนนั้น คนที่ยึดมั่นในศักดิ์ศรีถือว่าเจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง

แต่เป็นความเจ็บปวดที่ยินดียอมรับ โดยเฉพาะคำดูถูกที่ว่าเป็นผู้นำประเทศที่ไร้วิสัยทัศน์ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีสมอง ไร้ฝีมือ ลำพังตัวคนเดียวอาจจะถอดใจไปนานแล้ว แต่ด้วยภาระที่ต้องแบกรับเพื่อให้พวกในฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้สบายใจ จึงจำต้องหน้าทน เหตุผลที่ว่าอยากอยู่ยาวนั่นก็ประการหนึ่ง ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้ตั้งใจที่จะลากยาวขนาดนี้เหมือนตกกระไดพลอยโจน อย่างที่เจ้าตัวเคยแต่งเพลงไว้เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน จนถูกมองเป็นโมฆะบุรุษมาถึงทุกวันนี้

ต้องเข้าใจกันว่า เมื่อพูดถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ มันไม่ได้หมายถึงแค่คน ๆ เดียวเท่านั้น หากแต่มันคือขบวนการอย่างที่ย้ำมาโดยตลอด แล้วใครบ้างที่อยู่ในขบวนการ คงไม่ยากเมื่อมองเข้าไปยังกลไกที่ใช้ขับเคลื่อนอยู่กันมานานกว่า 8 ปี จนประเทศไทยจากที่ถูกยกให้เป็นประเทศต้นแบบในการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาค กลายเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง การจัดอันดับของสถาบันจากต่างประเทศเป็นสิ่งช่วยการันตีสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อสัญญาณการรอดเริ่มชัดเจน แต่น่าจะยังไม่จบภายในวันที่ 8 กันยายนนี้ คงจะมีการดึงเวลาออกไปอีกนิด เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าเร่งรีบจนเกินงาม ส่วนคนที่ทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ ยังคงยึดแนวทางการทำงานเดิมคือจะลงพื้นที่ต่างจังหวัดทุกวันจันทร์ตลอดเดือนนี้ หรือจนกว่าจะยุติบทบาทรักษาการ ถือเป็นโอกาสในการที่จะสร้างผลงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้พรรคสืบทอดอำนาจได้คะแนนตีตื้นกลับคืนมา ส่งผลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะที่การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งถือเป็นการทดสอบคะแนนนิยม และตรวจสอบความภักดีของ ส.ส.ในเครือข่ายทั้งหมดด้วย ประสาคนที่เล่นการเมืองแบบเต็มตัวย่อมมองถึงผลดีที่จะตามมาจากการได้ใช้อำนาจที่มีอย่างเต็มที่ ภายหลังจากการลงพื้นที่สองครั้งที่ฉะเชิงเทราและกระบี่ ทีมที่ปรึกษาของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ได้ร่วมกันวิเคราะห์และมองเห็นเป็นบางส่วนว่า มีจุดอ่อนตรงไหนบ้างที่จะต้องเข้าไปเสริมหากยังหวังที่จะยึดเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่

ขณะเดียวกัน ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคที่จะเป็นตัวรองรับน้องเล็กและน้องรองด้วยว่า มีการเตรียมการอะไรบ้าง ที่แน่ ๆ จะมี ส.ส.และแกนนำของพรรคสืบทอดอำนาจบางส่วนตีจาก รอเพียงจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น โดยที่จะมีอีกส่วนไหลออกไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ถ้าจับอาการของ อนุทิน ชาญวีรกูล ก็จะรู้ว่าไม่ได้อินังขังขอบต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใด ๆ เพราะมีการเตรียมพร้อมทั้งกระสุน และสะสมกำลังพลที่มากพอสำหรับสู้ศึกเลือกตั้งไว้หมดแล้ว

อย่างที่เคยบอกไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 หากสถานการณ์ทางการเมืองพลิกผันจนเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่การก่อรัฐประหาร คนที่จะมีรายชื่อมาเป็นนายกฯ ลำดับต้น ๆ หนึ่งในนั้นจะต้องมีเสี่ยหนูร่วมด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ใจถึง พึ่งได้ แต่มีฐานการสนับสนุนที่ใหญ่โตไม่แพ้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็แล้วกัน มิเช่นนั้น คงไม่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่กุมชะตากรรมของรัฐบาลเวลานี้โดยแท้ เพียงแต่ภายใต้สถานการณ์ที่ดำเนินไปในเวลานี้ ทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ต่างก็ช่วยกันประคองเพื่อให้อยู่ในอำนาจได้นานที่สุดก่อนเลือกตั้ง บนความชัดเจนที่ว่าอยู่กันไม่ครบวาระแน่นอน

Back to top button