FTX ล้มละลาย..โดมิโนคริปโทเคอร์เรนซี.!?

สะเทือนขวัญวงการ “คริปโทเคอร์เรนซี” โลก! เมื่อ FTX Group แพลตฟอร์มเทรดคริปโทเคอร์เรนซีอันดับ 2 ของโลกประกาศ “ยื่นล้มละลาย”


สะเทือนขวัญวงการ “คริปโทเคอร์เรนซี” โลก! เมื่อ FTX Group แพลตฟอร์มเทรดคริปโทเคอร์เรนซีอันดับ 2 ของโลกประกาศ “ยื่นล้มละลาย” ตามประมวลกฎหมายล้มละลายสหรัฐฯ เขตเดลาแวร์เพื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบรายได้และสินทรัพย์เพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกตามมาด้วย Sam Bankman-Fried ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโออย่างเป็นทางการ โดย John J. Ray III เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

ด้วยความที่ FTX เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่ได้รับเงินทุนจากทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยทั่วโลก การล้มของ FTX ครั้งนี้จึงสั่นสะเทือนผู้เล่นทั้งซีกโลกตะวันออกและตะวันตก เช่นเดียวกับนักลงทุนรายย่อยที่ถือคริปโทเคอร์เรนซีสกุลต่าง ๆ โดยเฉพาะนักเทรดบนแพลตฟอร์ม FTX มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา FTX มีการระดมทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ช่วงเดือน มิ.ย.) และ 421 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ช่วงเดือน ก.ย.) จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันชั้นนำโลก เริ่มจาก Temasek Holdings (กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์) จำนวนเงินลงทุน 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, Sequoia Capital (บริษัท Venture Capital) จากซิลิคอนวัลเลย์จำนวนเงินลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, Paradigm (บริษัทลงทุนจากซานฟรานซิสโก) จำนวนเงินลงทุน 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, SoftBank (บริษัทด้านการลงทุนของญี่ปุ่น) จำนวนเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Ontario Teachers’ Pension Plan (กองทุนบำนาญครูเมืองออนทาริโอ แคนาดา) จำนวนเงินลงทุน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านี้ FTX ถือเป็นอันดับ 2 แพลตฟอร์มเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่สุดของโลกเป็นรองเพียงแค่ Binance เท่านั้น

FTX ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2019 โดย Sam Bankman-Fried (SBF) ร่วมกับแกรี หวัง เพื่อนนักศึกษาที่ MIT โดย SBF ถือเป็นคนดังแห่งโลกคริปโทเคอร์เรนซีและนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) จัดอันดับมหาเศรษฐีคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกว่า SBF รวยสุดอันดับ 2 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอายุเพียง 30 ปี และ FTX เคยมีมูลค่าสูงถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปมเหตุวิกฤต FTX เริ่มต้นขึ้นหลังจากพบว่ามีการถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มจำนวนสูงถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในช่วงเวลา 72 ชั่วโมง (ช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ย. 65) ก่อนที่ FTX จะปิดการถอนเงินชั่วคราว พร้อมออกยืนยันว่าเงินที่ถูกถอนออกไป “ไม่ใช่การถูกโจรกรรม” แต่อย่างใด

ปรากฏการณ์ “แห่ถอนเงิน” เกิดขึ้นหลังมีข่าวเกี่ยวกับการล้มละลายของ FTX โดยเว็บไซต์ CoinDesk ระบุว่า Sam Bankman-Fried (SBF) เจ้าของ FTX มีธุรกิจอีกแห่งนั่นคือ Alameda Research บริษัทวิจัยคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีสินทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สินทรัพย์ดังกล่าวประมาณ 40% เป็นเหรียญสกุล FTT ที่ถูกสร้างมาให้เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมในการเทรดบนกระดาน FTX นั่นเอง

โดย SBF สามารถสร้างเหรียญ FTT ออกมาเท่าไหร่ก็ได้ตราบใดที่ยังไม่ปล่อยเข้าสู่ตลาดถือว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของเหรียญบนกระดานเทรด แต่ว่าในทางกลับกันเหรียญ FTT ที่ Alameda Research ถือครองอยู่อาจเป็นเพียงตัวเลขที่ถูกสร้างขึ้นและไม่มีมูลค่าใด ๆ รองรับ

อย่างไรก็ดีหลังจาก FTX มีการเปิดเผยงบดุลออกมา (6 พ.ย. 65) Changpeng Zhao (หรือที่วงการเรียกว่า CZ) ซีอีโอ Binance ประกาศขายโทเคน FTT ซึ่งเป็นเหรียญจาก Exchange ชื่อดังของ FTX ที่ถือครองไว้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นบรรดานักลงทุนพากันแห่เทขายเหรียญ FTT ออกมา จนทำให้ราคาปรับลงมากถึง 79% ช่วงเวลาเพียงแค่ 2 เท่านั้น

มีการประเมินกันว่าความเสียหายของ FTX ครั้งนี้มีจำนวนเจ้าหนี้กว่า 100,000 ราย มีทรัพย์สินระหว่าง 10,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินระหว่าง 10,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นมูลค่าสูงมาก เมื่อเทียบกับกรณีล้มละลายในอดีตอย่างเช่นกรณี Enron ที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Lehman ที่มีมูลค่ากว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บทเรียนจาก FTX ล้มละลายครั้งนี้ กำลังกลายเป็น “โดมิโน” ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีหรือไม่.? ถือเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ต้องพึงระวังอย่างยิ่ง..!!??

Back to top button