ตัวบิดเบือนตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นไทยก็เลยเป็นตลาดมายา ไม่สะท้อนสภาวะการลงทุนที่เป็นจริง และไม่เข้าใจตลท.ปรับเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อหุ้นเดลต้าตัวเดียวทำไม


ตลาดหุ้นมี “ผี” ครับ จะเป็นผีกระสือหรือผีปอบอะไรก็ไม่รู้นะ แต่ที่แน่ ๆ คือ ผีตัวนี้หลอกหลอนออกอาละวาดอย่างหนัก ทำนักลงทุนเสียทรัพย์มากมาย และบ่อนทำลายตลาดหุ้นไทยให้เสียรูปเสียทรง ไม่มีทางจะขึ้นทาบคุณสมบัติตลาดหุ้นระดับอินเตอร์ฯ ได้

หุ้นตัวนี้ก็คือ DELTA หรือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตเซมิ-คอนดักเตอร์ หรือ “ชิป” สินค้าแห่งยุคสมัย ซึ่งมีฐานผลิตใหญ่ที่ไต้หวัน และกิจการในไทยก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสัญชาติไต้หวัน

ผลประกอบการก็มีกำไรเป็นกอบเป็นกำมาทุกปี เพราะเป็นสินค้าหายากที่อยู่ในความต้องการของตลาด อย่างเช่นปี 64 ที่ผ่านมา “เดลต้า” มีผลกำไรถึง 1.1 หมื่นล้านบาท

แต่ในทางการซื้อขายบนกระดาน หุ้น DELTA ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปอันดับ 1 ของตลาดไปแล้ว กลับกลายเป็นตัวป่วนตลาด ทั้งการสร้างดัชนีลวงตา

ตลอดจนก่อเกิดผลกระทบการได้เสียในตลาดอนุพันธ์ โดยเฉพาะ SET50 INDEX ที่นักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ส่วนแมงเม่าหรือรายย่อยกลายเป็นเหยื่อทั้งในตลาดหลักและตลาดอนุพันธ์

อย่างเช่นการซื้อขายในตลาดวันแรกหลังปีใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีหลักทรัพย์ปิดที่ 10.31 จุด ดูไปแล้วก็เหมือนว่าตลาดหุ้นจะรับศักราชใหม่ด้วยความคึกคัก หุ้นส่วนใหญ่โดยเฉพาะใน SET50 น่าจะปรับตัวขึ้นเกือบทุกตัว

แต่ในความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ หุ้นส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับตัวขึ้น มีเพียงหุ้น DELTA เพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่ปั่นตลาดขึ้นมาเป็นหุ้นซื้อขายอันดับ 1 ทำราคาปิดปรับตัวขึ้นมา 100 บาทหรือ 12% และก่อผลกระทบต่อดัชนีถึง 10 จุด

เท่ากับทุก ๆ การขึ้นลง 1 บาทของหุ้น DELTA จะส่งผลกระทบ +- ต่อตลาด 0.1 จุด ถ้า 10 บาทก็ 1 จุด และ 100 บาทก็เท่ากับ 10 จุด

การที่ดัชนีตลาดฯ ปรับตัวขึ้นมา 10.31 จุดในวันนั้น จึงเป็นเพราะหุ้นตัวเดียวเท่านั้น ไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะตลาดที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย

ในทางกลับกัน เมื่อใดหุ้น “DELTA” ปรับตัวลง ตลาดในภาพรวมก็ดูเศร้าหมอง หุ้นหลายตัวก็ถูกเทขาย (หมู) ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยพื้นฐานตัวหุ้นแต่อย่างใดเลย

นี่คือการสร้างภาพ “ตลาดลวงตา” ชัด ๆ ขอยืนยันเลยว่า หุ้นตัวเดียวคือ DELTA สามารถป่วนตลาดได้ทั้งขาขึ้น-ขาลง อันทำให้ดัชนีไม่สะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ และไม่สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างนักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันที่ใช้ DELTA ดันหุ้นหรือทุบหุ้น เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยอีกด้วย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. ปล่อยให้เกิด “ตลาดมายา” เยี่ยงนี้ได้อย่างไร ผมล่ะเศร้าใจจริง ๆ!

เมื่อปีที่แล้ว หุ้นเดลต้า ยังไม่ได้รับการบรรจุอยู่ใน SET50 กระทั่ง SET100 แม้จะมีคุณสมบัติครบทั้งมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) และฟรีโฟลต หรือสภาพคล่องที่มีหุ้นซื้อขายในมือนักลงทุนรายย่อย

เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ Turnover Ratio (อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย) 5%

แต่แล้ว เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ศกก่อน ตลท. (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ได้ออกประกาศ ปรับปรุงเกณฑ์คัดเลือกหุ้นเข้าดัชนี SET50 และ SET100 โดยปรับลดเกณฑ์เทิร์นโอเวอร์ลิสต์ หรือปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อเดือน จาก 5% เป็น 2%

โดยอ้างเหตุผลเพื่อสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ และสอดคล้องกับสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม

หุ้นเดลต้า ก็เลยแหวกรั้วลวดหนามเข้ามาอยู่ใน SET50 อันทำให้กองทุนรวมมาตรฐานต่าง ๆ เข้ามาลงทุนได้ หุ้นเดลต้าก็ยิ่งซื้อขายเก็งกำไรอย่างคึกคักยิ่งกว่าเดิมในปีนี้

ตลาดหุ้นไทยก็เลยเป็นตลาดมายา ไม่สะท้อนสภาวะการลงทุนที่เป็นจริง และไม่เข้าใจตลท.ปรับเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อหุ้นเดลต้าตัวเดียวทำไม

Back to top button