พาราสาวะถี

ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ ต่อเรื่องการนำจำนวนคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมคำนวณแบ่งเขต ส.ส.


ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ต่อเรื่องการนำจำนวนคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมคำนวณแบ่งเขต ส.ส.ด้วย เหตุผลที่ประกาศอย่างทรนงเมื่อครั้งถูกบี้ถามว่าท่านแน่ใจแล้วหรือที่ตัดสินใจเช่นนี้ อ้างอย่างสุดเชื่อมั่นว่าทุกอย่างทำตามรัฐธรรมนูญ และที่ไม่น่าจะหลุดมาจากปากของคนที่ได้ชื่อว่าทำงานในองค์กรที่ต้องกำกับดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใสก็คือ ครั้งที่แล้วก็ทำแบบนี้ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

ดีที่ว่ารอบนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาคาราคาซังและต้องยื่นตีความกันอีกกระทอก จึงบอกชัดว่าผลคำวินิจฉัยที่ออกมาไม่มีผลย้อนหลังทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะไปด้วย ไม่อย่างนั้นได้วุ่นกันตายห่า! คงไม่ต้องไปถามต่อว่าแล้วจะรับผิดชอบกับความผิดพลาดและยังแสดงความอย่างหนาว่าตัวเองไม่ผิด และทำท่าว่าจะไม่ส่งตีความเสียด้วยซ้ำ เป็นธรรมดาของพวกที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากอำนาจเผด็จการจึงทำงานกันแบบไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เข้าใจบริบทของสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ไม่ว่าจะด้วยเจตนาอย่างไร คนที่ตั้งข้อสงสัยดักคอไว้ก่อนหน้า แล้วยังถูกคนใน กกต.ทั้งกรรมการ กกต.และเลขาธิการ กกต.กระแนะกระแหนอย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็จี้ให้เห็นผลพวงจากความยะโสของผู้บริหารองค์กรอิสระแห่งนี้ว่า  คำวินิจฉัยที่ออกมาทำให้ กกต.ต้องถอยหลังในกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งไปมากกว่า 15 วัน แทนที่จะประกาศเขตเลือกตั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ กลับต้องดำเนินการใหม่ทั้ง 77 จังหวัด รับฟังความคิดเห็นใหม่อีก 10 วันระหว่างวันที่ 4-13 มีนาคม  และคาดว่ากว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้คงเลยวันที่ 15 มีนาคม 2566

ประเด็นที่ว่าจะไปเข้าทางพรรคการเมืองใดนั้นคงไม่ต้องพูดถึง มันเห็น ๆ กันอยู่ แต่สิ่งที่อดีต กกต.รายนี้ชวนให้สังคมคิดตามก็คือ นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดหนแรกของ กกต.คณะนี้ หลายครั้งหลายหนที่ถูกสังคมตั้งข้อกังขา ก่อนหน้านั้นอยู่ได้ด้วยคำสั่งหรือประกาศของเผด็จการ คสช.คุ้มกะลาหัว หลังจากนั้นก็อยู่กันแบบหน้าทน เอาเฉพาะปมแบ่งเขตเลือกตั้ง 4 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าขาดความใส่ใจในการศึกษาปัญหาการแบ่งเขต แทนที่จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแบ่งเขตมาศึกษา อภิปรายถกเถียงกับทุกฝ่าย แต่กลับใช้มุมมองแบบมีอำนาจ “ฉันเคยทำแบบนี้ จะทำแบบนี้” ไม่เคยคิดวิเคราะห์ทบทวน

การทำงานแบบไม่ประสาน รอ ไม่รุก เรื่อยเฉื่อย เห็นได้จากตัวเลขของราษฎรที่สำนักทะเบียนกลาง สรุปได้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2566 แม้จะอ้างว่าประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 23 มกราคม 2566 แต่หากรู้จักประสานส่งข้อมูลให้แก่กัน ก็ควรประกาศแบ่งจำนวน ส.ส. ได้ตั้งแต่ 24 มกราคม 2566 ทันที แต่กว่าจะประกาศจำนวนได้เป็นวันที่ 31 มกราคม 2566 และกว่าจะประกาศรูปแบบการแบ่งเขตในจังหวัดเพื่อรับฟังความเห็นก็ปาเข้าไปวันที่ 4-13 กุมภาพันธ์  2566 ทำงานแบบราชการจริง ๆ

เมื่อทำงานแบบราชการเช่นนี้ มันจึงเป็นผลต่อเนื่องในการทำงานนั่นก็คือ “ปรับตัวช้า ดื้อ” ซึ่งสมชัยได้ย้ำด้วยว่า เมื่อตัวเลขการคำนวณ ส.ส.ในแต่ละจังหวัดปรากฏต่อสาธารณะในวันที่ 30 มกราคม 2566 ตนได้ทักท้วงทันทีในวันที่ดังกล่าว แต่ กกต.เฉย ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ถือเป็นมือกฎหมายสำคัญหรืออาจจะเป็นคนที่ กกต.ปรึกษาอยู่เป็นประจำเสียด้วยซ้ำไป ก็ทักท้วงว่าเอาต่างด้าวมาคำนวณแบ่งเขตไม่ได้ แต่ กกต.ก็เฉย กว่าจะรู้สึกตัวก็ปาเข้าไปวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงยอมส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ประเด็นที่ไม่เพียงแต่อดีต กกต.เท่านั้นที่มองเห็น เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่ก็มองไม่ต่างกัน นั่นก็คือการสื่อสารขององค์กรอิสระแห่งนี้ ทำตัวเป็นเหมือนแดนสนธยา หลบลี้หนีหน้า ไม่ชี้แจง ไม่สื่อสาร ยิ่งทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่น นี่คือจุดอ่อนที่สุด ทำอะไรต้องกล้าชี้แจงกับสื่อ ประชาชนแทบไม่รู้ว่า กกต.คือใคร หรือมีแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างไร ระบบราชการที่ถูกมองว่าเช้าชามเย็นชาม มาเจอการทำงานแบบนี้ต้องยอมกันเลยทีเดียว

แม้แต่วันนี้ การที่ทั้ง 77 จังหวัดจะประกาศรูปแบบการแบ่งเขตใหม่ และเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 4-13 มีนาคม เป็นเวลา 10 วัน แต่ก็ไม่มีชี้แจงว่าทำแล้วนะ กำลังรับฟังอยู่  ทั้งนี้ เพราะเป็นวันหยุดยาว 3 วัน ทุกจังหวัดจึงรีบโพสต์ หรือแปะไว้ในค่ำวันศุกร์ และถือว่าพ้นหน้าที่ และค่อยมาพบกันอีกทีวันอังคาร วังเวงสิ้นดี ประเทศจึงเหมือนว่างเปล่า รู้ว่าศาลบอกให้ กกต.ไปทำใหม่ แต่ไม่มีใครบอกหรือรับปากว่าจะเสร็จเมื่อไร ได้แต่ประมาณการว่าน่าจะมีประกาศแบ่งเขตในราชกิจจาฯ ประมาณวันที่ 15 มีนาคมไปแล้ว หรือจะเป็นอย่างที่สมชัยว่าจริง “อยู่ประเทศนี้ ก็ได้แบบนี้แหละ”

มารอดูกันว่าผู้บริหารองค์กรอิสระแห่งนี้จะยอมปรับเปลี่ยนหลังจากได้รับบทเรียนเรื่องแบ่งเขตรอบนี้หรือไม่ แต่น่าจะยากเพราะถ้ารู้สึกรู้สาต่อเสียงสะท้อนของสังคมคงปรับตัวกันไปนานแล้ว หันไปมองด้านผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่อยู่ในภาวะป่วย จากอาการมือบวมจนต้องใส่เฝือกอ่อน บางฝ่ายมองกันไปไกลถึงว่า สังขารที่ลากตัวเองมานานกว่า 8 ปีทั้งที่ควรจะเกษียณแล้วไปอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีอดีตผู้บัญชาการทหารบก หรือจะพ่วงท้ายด้วยอดีตหัวหน้าเผด็จการ คสช. และอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ยังมาดันทุรังขออยู่ยาว ยังไหวที่จะยืนระยะสู้รบปรบมือทางการเมืองหรือไม่

การฟาดฟันกันในพื้นที่ภาคใต้ของอดีตคนพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มองไปถึงภาพรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โอกาสที่จะได้เห็นขั้วการเมืองเดิมที่หนุนหลังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจน่าจะน้อยลงไปทุกที แม้จะบอกว่าการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน แต่ด้วยการแข่งขันที่ห้ำหั่นกันขนาดนี้ มันน่าจะยากต่อการที่จะกลับมาจับมือกันอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือ เสียงของ ส.ส.ที่จะได้ก็เป็นการแย่งชิงกันเอง ดีไม่ดีจะมีตาอยู่คว้าพุงปลาไปกินอีกต่างหาก

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด บนเวทีปราศรัยที่อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศถึงผลโพลลับของหน่วยงานแห่งหนึ่ง พรรคแลนด์สไลด์จะได้ ส.ส.ถึง 270 ที่นั่ง หากเป็นจริงก็เท่ากับเป็นการปิดประตูตายของฝ่ายขออยู่ยาวไปโดยปริยาย แต่ทางการเมืองตราบใดที่ประชาชนยังไม่ได้หย่อนบัตร หีบเลือกตั้งยังไม่ถูกปิด ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองที่ไม่ได้เล่นกันแบบแฟร์ ๆ การลงทุนเปลืองตัวของคนเจ้ายศเจ้าอย่างย่อมไม่ใช่การทะเล่อทะล่าหรือตัดสินใจแบบโง่ ๆ กระโจนเข้าสู่สนามแข่งขันทั้งที่รู้ว่าตัวเองจะแพ้อย่างแน่นอน

Back to top button