พาราสาวะถี

แหลมคมทางการเมืองหรือไม่กับบทสัมภาษณ์ของ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นระหว่างเดินทางมาที่โตเกียว


แหลมคมทางการเมืองหรือไม่กับบทสัมภาษณ์ของ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นระหว่างเดินทางมาที่โตเกียวว่า พร้อมที่จะรับโทษจำคุกในไทยแลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้จะออกมาอย่างไรก็ตาม คำถามคือ ทำไมจึงเปิดประเด็นออกมาในช่วงนี้ เป็นการปิดทางฝ่ายการเมืองตรงข้ามที่จะตีประเด็นความเห็นของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยต่อแนวทางพาพ่อกลับบ้านหรือไม่

ปมร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยที่เป็นเหตุให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องมีอันกระเด็นตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีถือเป็นบทเรียนราคาแพง ดังนั้น การที่ทักษิณประกาศเช่นนี้ก็เพื่อที่จะเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมไม่ต้องให้พรรคเพื่อไทยที่อยู่ในช่วงได้เปรียบทางการเมืองต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง คำให้สัมภาษณ์ที่ว่า “ผมบอกกับลูกสาวว่าอย่ายอมให้พรรคเพื่อไทยผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผม เพราะมันไม่จำเป็น คนที่ต่อต้านผมจะไม่พอใจ และกฎหมายต้องมีไว้สำหรับคนทุกคน ไม่ใช่เพื่อคนคนเดียว” จึงน่าขีดเส้นใต้เป็นอย่างยิ่ง

การที่น้องสาวต้องมีอันเป็นไปทั้งที่กำลังไปได้สวยเมื่อปี 2557 เป็นการถูกหลอกทางการเมืองครั้งสำคัญของคนแดนไกล หนนี้เมื่ออีกฝ่ายมีนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง แน่นอนว่า สิ่งหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยโดยแกนนำทั้งหลายอาจจะถูกขุดบ่อล่อก็คือ ข้อเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ต้องรวมถึงทักษิณอยู่ด้วย การชิงประกาศพร้อมจะติดคุกจึงเป็นการได้หลายเด้ง ทำให้เพื่อไทยไม่ต้องมากังวลต่อประเด็นที่ว่าจะพาทักษิณกลับบ้านด้วยวิธีไหน

ขณะเดียวกัน ก็จะเกิดเป็นกระแสวิจารณ์ในแวดวงทั้งการเมืองและวิชาการกันอย่างกว้างขวาง ฝ่ายที่ไม่ชอบขี้หน้าพวกอุปโลกน์ระบอบทักษิณก็จะหาประเด็นมาตีว่า ทำไมเพิ่งมาสำนึกตอนนี้ แล้วก็จะหาเหตุลากโยงเพื่อดิสเครดิตต่อไป ส่วนฝ่ายที่เป็นกลางก็จะมองไปถึงกระบวนการเอาผิดทักษิณที่เกิดจากกลไกของอำนาจเผด็จการ พร้อม ๆ กับพวกที่ตรวจสอบเพื่อเอาผิดก็มาจากคนที่มีอคติส่วนตัวต่ออดีตนายกฯ รายนี้ทั้งสิ้น

มีความเห็นในทิศทางนี้ทันทีจาก ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ระบุว่า วันนี้ประเด็น “ทักษิณกลับบ้าน” กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ตนยังคงยืนยันตามเดิมว่า การดำเนินคดีทักษิณโดยใช้องค์กรและกระบวนการที่เริ่มต้นจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่เป็นธรรมต่อทักษิณ จนถึงวันนี้ทักษิณไม่ต้องติดคุก และเช่นเดียวกันก็ไม่ควรมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณด้วย หนทางที่ถูกต้อง เป็นธรรม และยืนอยู่บนหลักการก็คือ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ที่เคยเสนอไว้เมื่อ 12 ปีก่อน

เรียกได้ว่าทั้งสร้างกระแส และเปิดประเด็นให้เกิดการทุ่มเถียงกันครั้งใหญ่ กรณีนี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน คำถามจะถูกโยนเข้าใส่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและเครือข่าย ที่เคยกล่าวหาและหยิบเอามาเป็นเรื่องโจมตีทุกครั้งว่าบางคนหนีคดี เมื่อคนที่ถูกพาดพิงประกาศมาแบบนี้ ท่าทีของอดีตหัวหน้าเผด็จการ คสช.จะมีความเห็นอย่างไร วันที่ไม่ได้เล่นการเมืองเต็มตัวอาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเอ่ยชื่อคนที่ตนไม่ชอบ แต่นาทีพูดแบบนั้นมันจะทำให้เสียคะแนนนิยม และเป็นการตอกย้ำสิ่งที่พูดตลอด “ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่เคยเกลียดใคร” เป็นเรื่องโกหก

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง รวมไทยสร้างชาติประกาศเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 400 คนทั่วประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคมากกว่า จากเดิมจะเสนอชื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเพียงรายเดียว มีการพ่วงเอา พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคเป็นแดนดิเดตเข้าไปอีกหนึ่งรายด้วย ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้าก็ว่าน่าจะเป็นแนวทางนี้ เผื่อเหลือเผื่อขาดหากได้ ส.ส.ไม่เป็นไปตามคนหวังอยู่ยาวจะได้ไม่หน้าแหก

ฟากพรรคเพื่อไทยมีการเปิดรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้ง 100 คนเป็นที่เรียบร้อย ก็ไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมายเช่นเดียวกัน ทั้งคนเก่าและผู้มาใหม่ต่างก็อยู่ในข่ายที่ถูกคาดว่าจะได้รับการเสนอชื่ออยู่แล้ว ส่วนเรื่องไม่มีชื่อของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคอยู่ในลิสต์นั้น ไม่ใช่เพราะจะมีการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ร่วมกับแพทองธาร และ เศรษฐา ทวีสิน แต่พื้นที่จังหวัดน่านยังต้องใช้บริการคุณหมอเพื่อรักษาฐานที่มั่น การเมืองที่นั่นแม้จะมั่นใจว่าคนในพื้นที่ไม่เปลี่ยนใจ ทว่ากลไกที่ขับเคลื่อนกันอยู่เวลานี้หากส่งหน้าใหม่เป็นมวยแทนมีโอกาสที่สถานการณ์จะพลิกผันไม่น้อย

ด้านพรรคสืบทอดอำนาจ ปม “ด็อกเตอร์แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ประกาศไม่ลงสมัคร ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ กลายเป็นประเด็นถูกจับตามอง ความขัดแย้งภายในพรรคที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ย้ำนักย้ำหนาว่าจัดการเรียบร้อยแล้ว ยังไม่สะเด็ดน้ำใช่หรือไม่ ระดับเหรัญญิกพรรค แต่ไม่ยอมลงสมัคร ส.ส.ทั้งที่ต้องอยู่ในอันดับต้น ๆ มีโอกาสได้เข้าสู่สภา มันเป็นเรื่องที่น่าแปลกอย่างยิ่ง แค่บอกว่าเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้ไปทำหน้าที่ ไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ คงต้องมองข้ามช็อตกันต่อไปว่า ก่อนวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งที่ยืนทางการเมืองของนักการเมืองหญิงรายนี้ยังจะอยู่พรรคเดิมอีกหรือไม่

ปัจจัยชี้วัดขั้วการเมืองหลังเลือกตั้งอีกประการให้จับตาดูผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะรับเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ของรวมไทยสร้างชาติหรือไม่ หากปฏิเสธ โอกาสจะวางมือเพราะผลเลือกตั้งไม่เป็นใจมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง จากกระบวนการต่อรองจับมือทางการเมืองที่ย้ำมาตลอดว่าคืบหน้าไปมากแล้วนั้น ไม่ได้มีเฉพาะขั้วพรรคแลนด์สไลด์กับพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ยังมีสูตรอื่นที่จะมีพรรคสืบทอดอำนาจและภูมิใจไทยเป็นแกนหลัก แต่สูตรนี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ไม่ได้อยู่ในแผนที่จะหนุนให้อยู่ต่อ บอกแล้วว่าการแยกทางของแก๊ง 3 ป.นั้นเขาแตกกันจริงไม่ใช่แผนแยกกันเดินร่วมกันตีภายหลัง

Back to top button