พาราสาวะถี

จับอาการ มองจังหวะก้าวขององค์กรที่ต้องบริหารจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่ายในนาม กกต.แล้ว


จับอาการ มองจังหวะก้าวขององค์กรที่ต้องบริหารจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่ายในนาม กกต.แล้ว บทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2562 ไม่ได้ช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น มีเพียงรูปแบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบเท่านั้น ที่เราจะได้ไม่ต้องมาทนดูการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจนเกิดเป็นพวก ส.ส.ปัดเศษ ส.ส.เอื้ออาทร หนนี้ทีแรกก็ยืนกระต่ายขาเดียวเอาจำนวนคนต่างด้าวมาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ไม่มีปัญหา ทำท่าว่าจะไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

สุดท้าย กลัวตัวเองจะติดคุกจึงตาลีตาเหลือกรีบส่งให้วินิจฉัย ดีที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญช่วยให้ทุกอย่างกระจ่างชัด ไม่มีปัญหาให้ย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จบเรื่องหนึ่งก็มีปมใหม่เกิดขึ้นอีก ระบบรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ที่ใช้ครั้งที่แล้ว อ้างว่าเป็นภาระกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ทำให้มีปัญหาข้อผิดพลาด หนนี้ไม่ขอใช้แต่ยืนยันจะรู้ผลไม่เกิน 4 ทุ่มของวันเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของฝ่ายการเมืองอย่างหนัก

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดยังมีประเด็นการเดินทางไปตรวจเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของ กกต.ทั้ง 6 คน ทั้งสองปมและสิ่งที่ กกต.ชุดนี้ไม่ดำเนินการนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ได้แจกแจงให้คนได้เข้าใจ ก็พอจะเห็นว่า กกต.ที่ได้รับเลือกมาจากกลไกของเผด็จการ คสช.นั้น ทำงานกันเป็นอย่างไร โดยที่สมชัยชี้ว่า กตต.ชุดที่ตัวเองร่วมคณะ ได้มีการใช้แอปพลิเคชัน Rapid Report ให้กรรมการประจำหน่วยรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ โดยใช้อย่างประสบความสำเร็จในการออกเสียงประชามติ ปี 2559

แต่ กกต.ชุดปัจจุบันกลับมองว่าเป็นปัญหาในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจึงไม่ใช้ต่อ การให้มีแอปพลิเคชัน “ดาวเหนือ” ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กรอกหมายเลขประจำตัวประชาชน แล้วจะระบุหน่วยเลือกตั้ง ตำแหน่งที่ตั้งหน่วย และแผนที่นำทางไปยังหน่วยเลือกตั้งทั้ง 90,000 แห่ง การให้มีการนับคะแนนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สถานทูต แทนการส่งบัตรกลับประเทศที่มีต้นทุนสูง และมีโอกาสเป็นบัตรเสียเนื่องจากมาไม่ทันเวลา กกต.ชุดก่อนทำไว้หมดแล้ว แต่ชุดนี้ไม่ทำต่อ

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่สมชัยได้บอกกล่าวมาอีกเรื่องและทางกระทรวงการต่างประเทศก็บอกว่าได้เสนอให้ กกต.ไปพิจารณาแล้ว ก็ไม่รู้ว่า กกต.ชุดนี้จะมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลด้วยหรือไม่ นั่นก็คือ การจัดทำระบบการเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ i Vote ให้เป็นทางเลือกของคนไทยในต่างประเทศลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยมีกลไก block chain เป็นเครื่องมือสำคัญ  โดยพบว่ามีการออกแบบเสร็จ และทดลองใช้ใน 3 ประเทศ เมื่อปี 2560 ได้ผลดี

ด้วยท่วงทำนองเช่นนี้ มันจึงทำให้คนมองเจตนาในการทำหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบันได้อย่างชัดเจนว่า ทำงานกันแบบไหน และมีวัตถุประสงค์อย่างไร ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการต่อการเดินทางไปตรวจการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของ กกต.ที่สมชัยอธิบายให้เห็นภาพก็คือ ประเทศเคนยาที่ประธาน กกต.ไปตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สถานทูตไทยในเคนยานั้นรับผิดชอบการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริการวม 9 ประเทศ

ผลการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรของทั้ง 9 ประเทศ ทั้งที่มาลงคะแนนที่สถานทูต และทางไปรษณีย์ มีดังนี้ เคนยา เซเซลล์ แทนซาเนีย ยูกานดา ซูดาน โซมาเลีย รวันดา คองโก และเอธิโอเปีย มีจำนวน 171 คน จึงเกิดเป็นคำถามตัวโตว่า คุ้มค่ากับการเสียเวลาของประธาน กกต.ไปต่างประเทศ 10 วัน  กับงบประมาณเส้นทางละ 2 ล้านบาทหรือไม่ ความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปได้บอกไปวันก่อนแล้วว่าเพื่ออะไร มันสำคัญขนาดไหน

ต้องรอดูกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่ทางสำนักงาน กกต.อ้างว่า แม้จะเดินทางไปต่างประเทศ แต่ กกต.ทั้ง 6 คนก็สามารถทำงานได้ทันตามไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่วางปฏิทินไว้นั้น มันจะเต็มไปด้วยความรอบคอบ และเป็นธรรมกับฝ่ายที่ถูกร้องเพียงใด น่าสนใจคือ กรณีชี้แจงของทุกพรรคการเมืองเกี่ยวกับนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณดำเนินการ โดยให้แจ้งวงเงินงบประมาณ ที่มางบประมาณ ความคุ้มค่าและประโยชน์ ผลกระทบและความเสี่ยงต่อ กกต. เรื่องนี้สมชัยก็ได้ให้ความรู้ไว้เช่นกัน

หากพรรคการเมืองไม่ชี้แจงภายในวันที่ 18 เมษายน จะมีโทษปรับ 500,000 บาท และปรับวันละ 10,000 บาทไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะแจ้งครบ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะนี่เป็นโทษตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ต้องจับตาต่อกระบวนการตัดสินของ กกต.ก็คือ ผลการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เป็นกรณีสัญญาว่าจะให้ต่อบุคคล สัญญาว่าจะให้ต่อชุมชน และ หลอกลวงให้เกิดความเข้าใจผิดในการหาเสียง

การชี้ความผิดดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 73 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตรงนี้ก็จะเป็นตัวช่วยสำหรับคนที่หวังจะพลิกกลับมาได้เปรียบ เพราะอยู่ที่ว่าจะมีการจิ้มเอาว่าพรรคไหนเข้าข่ายกระทำผิดหรือไม่ โทษถึงขั้นยุบพรรค เหมือนที่ได้บอกไปวันวาน ถ้าพิจารณาเสร็จก่อนหย่อนบัตรก็จะเป็นปัญหาต่อพรรคที่ถูกเอาผิด แต่ถ้าหลังเลือกตั้งคนที่ได้รับเลือก ส.ส.ก็สามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ ซึ่งก็ไม่เข้าทางของฝ่ายอยากอยู่ยาว

บอกแล้วว่า ทุกกระบวนท่าของฝ่ายที่ต้องตอบแทนบุญคุณนั้น มันถูกสังคมมองด้วยสายตาไม่เชื่อมั่น ยิ่งเกิดการเปลี่ยนโน่นปรับนี่โดยอ้างสารพัดเหตุผล มันก็ส่อแววว่ากระบวนการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การตัดสินนั้น จะไม่เป็นธรรมกับฝ่ายที่คนส่วนใหญ่หวังว่าจะเข้ามาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และนี่เป็นอีกเหตุผลที่ย้ำมาตลอดว่า คงไม่มีคนโง่รายไหนที่แสดงความรังเกียจและดูถูกนักเลือกตั้งมาตลอด จะกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองเป็นนักการเมืองเต็มตัว ทั้งที่รู้ว่ายังไงตัวเองก็แพ้ ถ้าไม่เชื่อมั่นว่ากลไกที่วางแผนไว้จะช่วยให้กลับมาเป็นฝ่ายชนะ ไม่ต้องถามเรื่องไร้ยางอาย หรือบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ พวกอย่างหนาไม่แยแสอยู่แล้ว

Back to top button