พาราสาวะถี

ลีลาทางการเมืองของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.วินาทีนี้ต้องบอกว่าโชว์ลูกเหนือชั้น แสดงความช่ำชองในฐานะนักการเมืองเต็มตัวให้น้องเล็กได้เห็น


ลีลาทางการเมืองของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.วินาทีนี้ต้องบอกว่าโชว์ลูกเหนือชั้น แสดงความช่ำชองในฐานะนักการเมืองเต็มตัวให้น้องเล็กได้เห็น ไม่ใช่พวกที่เอาแต่เลือกข้างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต้องพวกเดียวกันเท่านั้นถึงจะจับมือกันตั้งรัฐบาลได้ จดหมายเปิดใจฉบับล่าสุด เป็นการชี้ให้เห็นทิศทางของพรรคสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้งว่า ไม่มีลับ ลวง พราง ยังไงต้องผลักดันให้น้องเล็กได้อยู่ยาว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และถือเป็นการตบปากรองหัวหน้าพรรคที่เคยออกมาแถลงก่อนหน้านี้ว่าจะไม่จับมือกับพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยและก้าวไกลในการตั้งรัฐบาลแน่นอน

สิ่งที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ระบุผ่านจดหมายฉบับที่ 9 นั้น ยืนยันว่าการที่พรรคสืบทอดอำนาจจะร่วมมือกับพรรคการเมืองไหนหลังเลือกตั้ง ต้องดูทิศทางลม สิ่งสำคัญต้องยึดมติพรรคเป็นที่ตั้ง โดยการอ้างถึงกรณีประชาธิปัตย์ ที่แม้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะแสดงจุดยืนไม่หนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่ยกมือให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้อยู่ต่อ แต่เมื่อพรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล เจ้าตัวก็ต้องแสดงสปิริตลาออกจากความเป็นสมาชิกพรรคและวางมือทางการเมืองไป

เมื่อมองในมุมนี้ก็หมายความว่าคำประกาศของรองหัวหน้าพรรคอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่จะไม่จับมือกับก้าวไกลและเพื่อไทยเป็นรัฐบาลนั้น ก็เพียงแค่แอ็กชันหนึ่งทางการเมืองเพื่อรักษาฐานเสียงของพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งให้คงเลือกพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้น การที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.พูดถึงยึดมติพรรคเป็นหลัก ก็หมายความว่า หลังเลือกตั้งเมื่อได้เห็นเสียง ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว พรรคจึงจะมีมติว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายไหน เด่นชัดที่สุดคือต้องเป็นพรรคที่จะตั้งรัฐบาลเท่านั้น

ยิ่งมองไปยังนักการเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจ เห็นกันชัดเจนว่าจำนวนไม่น้อยก็เคยอยู่ร่วมชายคากับพรรคเพื่อไทย เคยใกล้ชิดกับนายใหญ่มาทั้งสิ้น เมื่อต้องการมติที่จะใช้เป็นหลังพิงของการก้าวเดินทางการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องยาก คนบางคนที่อาจจะยอมรับกับระบอบทักษิณไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องกลืนเลือดเพื่อให้พรรคได้อยู่บนเส้นทางของฝ่ายกุมอำนาจต่อไป หรือถ้าไม่พอใจมาก อยู่ไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีเดียวกันกับที่อภิสิทธิ์เคยทำไว้เป็นตัวอย่าง

ความน่าสนใจประการต่อมากับโพลล่าสุดที่กลุ่มตัวอย่างยกหางให้พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เป็นอันดับหนึ่งของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งหวังว่าจะพาประชาชนก้าวข้ามความขัดแย้งได้ ครั้นนักข่าวไปถามกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ท่องคาถาเดิม “ผมไม่เคยขัดแย้งกับสื่อ ไม่เคยขัดแย้งกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ตามมาด้วยการพล่ามเรื่องทุกอย่างว่ากันตามกฎหมาย แก้ตัวต่อการใช้อำนาจดำเนินคดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เห็นต่างกับขบวนการสืบทอดอำนาจ

ท่าทีที่แสดงออกของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจทั้งต่อเรื่องก้าวข้ามความขัดแย้ง การยืนยันว่าความเป็นผู้นำประเทศตลอดเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำในสิ่งที่เอื้อต่อนักธุรกิจหรือคนรวย ล้วนแต่เป็นเรื่องการแก้ตัว หรือคำพูดที่สวนทางกับความเป็นจริงทั้งสิ้น อันสะท้อนให้เห็นถึงภาวะจวนตัวในสถานการณ์เลือกตั้งที่ประชาชนผู้มีสิทธิได้กำหนดทิศทางในการเลือกไว้ชัดเจนแล้วว่า ต้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะเลือกฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

หรือในความเป็นจริงเหลือเพียงแค่ฝ่ายเอาประยุทธ์กับไม่เอาประยุทธ์เท่านั้น บรรดาพวกลิ่วล้อสอพลอทั้งหลายโดยเฉพาะพวกที่อยู่ในฝ่ายปฏิบัติการไอโอ ก็จะพากันยกหาง อวดผลงานของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นการใหญ่ พร้อมกับการทำลายความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถที่จะสร้างแรงกระเพื่อม ส่งผลสะเทือนต่อความนิยมของคู่แข่งได้ ไม่ว่าจะใช้สื่อแบบไหนก็ตาม เพราะอีกฝ่ายก็มีสื่อและมวลชนที่พร้อมจะตอบโต้ทุกรูปแบบเช่นกัน

ทางเลือกสุดท้ายที่จะเป็นตัวช่วยสำหรับพวกอยากอยู่ยาว จึงอยู่ที่บุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการด้วยความหวังว่าจะเข้าข้างตัวเองและเล่นงานอีกฝ่ายจากกลไกข้อกฎหมายที่ใช้การตีความกันเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มาถึงนาทีนี้ฝ่ายที่เป็นความหวังของขบวนการสืบทอดอำนาจก็ใช่ว่าจะดำเนินการทุกอย่างได้ตามอำเภอใจเหมือนที่ผ่านมา เพราะสังคมก็เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด การจะตัดสินเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนว่าเลือกปฏิบัติ และมีเจตนาไม่ชอบ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ได้

ไม่เพียงเท่านั้น ปมของ กกต.เกี่ยวกับการเดินทางไปตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่เกิดเสียงวิจารณ์กันอย่างหนัก ไม่เพียงแต่มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายเท่านั้น วันวานนักร้องคนดัง ศรีสุวรรณ จรรยา ก็ได้ไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ตรวจสอบต่อกรณีนี้ มีประเด็นที่น่าขีดเส้นใต้ก็คือ  การเดินทางไปตรวจการเลือกตั้งที่เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ของ ปกรณ์ มหรรณพ หนึ่งใน กกต.นั้น สองประเทศดังกล่าว กกต.รายนี้เคยไปตรวจการเลือกตั้งมาแล้วเมื่อปี 2562 ทำไมต้องไปตรวจซ้ำอีก

ปุจฉาที่ชวนสังคมคิดตามก็คือ มีอะไรพิเศษนอกเหนือกว่าการไปตรวจเลือกตั้งหรือไม่ หรือสถานทูตทั้งสองประเทศดังว่า ไร้ประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้งต่างแดนจนต้องให้ กกต.หน้าเดิมมาสอนทุกการเลือกตั้งหรือไม่ ในขณะที่การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ภายในประเทศมีปัญหามากมาย แต่ กกต.กลับเลือกที่จะไปทัวร์ตรวจการเลือกตั้งในต่างประเทศ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง เข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นที่ศรีสุวรรณกังขา ยังตรงกับที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ตั้งข้อสังเกตอีกเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาของชำร่วยที่ กกต.นำติดตัวไปมอบให้สถานทูต อุปทูตในประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางไปตรวจ มีข้อครหาว่าจัดซื้อโดยวิธีเจาะจงถึง 2 ครั้งด้วยเงินจากภาษีของประชาชน 199,471 บาท โดยเฉลี่ยจะนำไปมอบให้แต่ละแห่งกว่า 19,000 บาท ซึ่งเกินกว่า 3,000 บาท ขัดต่อประกาศของ ป.ป.ช.เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของพนักงานของรัฐ 2563 หรือระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2565 หรือไม่ จะติ๊ดชึ่งกันอย่างไรสังคมก็คาใจอยู่ดี

Back to top button