พาราสาวะถี

หลังประสบชัยชนะเหนือพรรคเพื่อไทย ล้มเป้าหมายแลนด์สไลด์ได้อย่างงดงาม บรรดาด้อมส้มทั้งหลายต่างวาดฝันถึงสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ประกาศเป็นนโยบายไว้


หลังประสบชัยชนะเหนือพรรคเพื่อไทย ล้มเป้าหมายแลนด์สไลด์ได้อย่างงดงาม บรรดาด้อมส้มทั้งหลายต่างวาดฝันถึงสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ประกาศเป็นนโยบายไว้ จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือ และมองเห็น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คือผู้นำประเทศยุคใหม่ที่จะนำพาบ้านเมืองให้ก้าวพ้นการเล่นเกมการเมืองแบบเดิม ๆ แต่พลันที่มีการประกาศข้อตกลงร่วมหรือเอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลก็พบความจริงที่ว่า การเมืองเรื่องของการบริหารอำนาจไม่ง่าย และไม่ใช่สูตรสำเร็จที่คิดไว้แบบนี้แล้วต้องได้อย่างนั้น

การขยับก้าวแรกภายใต้ความร่วมมือ 8 พรรคตั้งรัฐบาล ทำให้เห็นแล้วว่านโยบายที่เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ทั้งที่สนับสนุนก้าวไกลและที่อยู่ในพรรค ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขมาตรา 112 หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง เป็นภาพสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักการเมืองอาชีพรู้ทิศทางลมดี หากเดินกันแบบยืดอกทายท้ากล้าฝ่ากระแสต่อต้านจุดจบจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะปมนิรโทษกรรม เพื่อไทยในฐานะผู้ถูกกระทำรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดมากที่สุด

ดังนั้น การใส่เกียร์ถอยทั้งเรื่องมาตรา 112 และกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ปรากฏในเอ็มโอยูของพรรคร่วมตั้งรัฐบาล มันจะวกกลับมาเป็นปัญหาของพรรคก้าวไกลเอง อย่างน้อยก็ต้องตอบคำถามของด้อมส้มทั้งหลาย หวังจะได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีและอยากเป็นรัฐมนตรีกันตัวสั่น จนยอมละทิ้งสิ่งที่ไปป่าวประกาศอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะกับผู้สนับสนุนในช่วงหาเสียงอย่างนั้นหรือ แค่นี้ก็ทำให้เกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น การตรวจสอบภายในของพรรคก้าวไกลเองคงจะเริ่มเข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของคนที่เป็นสมาชิกพรรค และผู้ที่อยู่เบื้องหลังอย่างบรรดาคนของคณะก้าวหน้า มีให้เห็นแล้วคือ ข้อทักท้วงจาก ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเคยมีประเด็นวิวาทะกับพิธาก่อนหน้าแต่สามารถเคลียร์ใจกันได้ หนนี้หลังจากเห็นเอ็มโอยูที่ไปลงนามร่วมกับอีก 7 พรรคการเมือง ปิยบุตรแสดงความไม่เห็นด้วยและตั้งคำถามตัวโตเกี่ยวกับการเพิ่มข้อความในเอ็มโอยู และตัดกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากข้อตกลงร่วม

โดยปิยบุตรมองว่า การประกาศภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกัน และมีข้อความที่ระบุ ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ นั้น ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้วการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบของรัฐได้

การบัญญัติข้อความนี้ซ้ำลงไปไม่ส่งผลใด ๆ ในทางกฎหมายและในทางการเมือง เพราะอย่างไรเสีย รัฐบาลใดที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและระบอบการปกครองได้อยู่แล้ว พวกที่ทำแบบนี้ได้คือ พวกก่อการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นปิยบุตรยังใช้คำแรงกล่าวหาการเติมข้อความดังกล่าวไปในแถลงการณ์ร่วมของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลว่า เขียนลงไปแบบนี้คือการแสดงออกแบบ “กินปูนร้อนท้อง” หรือ “วัวสันหลังหวะ” เสียมากกว่า

ในมุมมองของปิยบุตรเห็นว่า การเพิ่มถ้อยคำที่ว่าสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ อาจเป็นบ่วงรัดคอที่ทำให้พรรคก้าวไกลต้องประสบปัญหาในการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในอนาคต เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่เคยเสนอไป และตามที่เคยแถลงเป็นนโยบายอาจจะถูก ส.ส. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ นำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกับข้อความในเอ็มโอยูมาขยายความตีความแบบพิสดาร เพื่อมัดไม่ให้ก้าวไกลได้ใช้กลไกของสภาแก้ไขมาตรา 112 ได้

ไม่เพียงเท่านั้น ปิยบุตรยังเห็นว่า การตัดเรื่องการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกรัฐสภาออกไปจากเอ็มโอยู ก็อาจสร้างปัญหาให้พรรคตามมาภายหลัง เพราะก้าวไกลมีพันธกิจสำคัญที่รับมาจากความคาดหวังของประชาชน เยาวชนจำนวนมาก ในการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่พัวพันกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ผ่านเหตุการณ์ปี 2553 ผ่านรัฐประหาร 2557 และการชุมนุมของราษฎร ในปี 2563-2565

การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ ต้องใช้กลไกการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองเสียก่อน เรื่องเหล่านี้จะสำเร็จได้สุดท้ายต้องไปจบที่สภา เพราะต้องตราเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่มันจะผ่านได้ต้องมีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน ดังนั้น ถ้าทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล 313 เสียงเห็นตรงกันตั้งแต่วันนี้ ก็เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ประชาชนคนธรรมดาทุกกลุ่ม ทุกฝักฝ่าย ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง แสดงออกทางการเมือง

แต่ก็อีกนั่นแหละ แม้ว่าจะตั้งเป็นปุจฉาถึงสองประเด็นสำคัญและใช้ถ้อยคำที่รุนแรงขนาดไหน ท้ายที่สุดปิยบุตรก็เข้าใจในสัจธรรมการเมือง เมื่อสรุปว่า ตนไม่ได้บอกว่าต้องใส่เรื่องแก้ 112 ลงไปในเอ็มโอยู ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องประนีประนอม ตนเห็นว่าเอ็มโอยูแบบร่างสุดท้ายที่หลุดออกมาทางสื่อนั้น พอไปได้แล้ว เหมาะสมแล้ว ประนีประนอมแล้ว ไม่ใช่การประชดประชันหากแต่เป็นการมองอย่างเข้าใจในบริบทเมื่อต้องการมีอำนาจ ย่อมรู้ว่าสิ่งไหนที่จะทำให้การก้าวไปสู่อำนาจสะดุดหรือจบเห่ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

อย่าลืมเป็นอันขาด ไม่ได้หมายความว่ามีเอ็มโอยูเป็นเครื่องการันตีแล้ว ก้าวไกลจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ และพิธาจะได้เป็นนายกฯ ตราบใดที่ กกต.ยังไม่รับรองผลเลือกตั้ง อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ปมส่วนตัวที่ถูกร้องของพิธาก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง หากพลาดพลั้งถามว่าการเดินเกมเลือกนายกฯ จะไปเข้าทางใคร เพราะแคนดิเดตนายกฯ ของก้าวไกลมีแค่คนเดียว ส้มอาจหล่นไปถึง แพทองธาร ชินวัตร หรือคนของพรรคเพื่อไทยถ้าพรรคที่ลงนามในเอ็มโอยูยังเหนียวแน่น ที่แน่ ๆ โอกาสพลิกที่จะให้คนอยากอยู่ยาวกลับมาเป็นนายกฯ นั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะทุกเสียงจากทุกสายต่างเห็นตรงกัน เวลาของลุงหมดแล้ว

Back to top button