ความสำเร็จในการ ‘ทุจริตงบการเงิน’ ของบจ.

หนึ่งในตัวละครที่ทำให้ “การทุจริตทางการเงิน” หรือ “ตกแต่งบัญชี” ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสบความสำเร็จ ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ


หนึ่งในตัวละครที่ทำให้ “การทุจริตทางการเงิน” หรือ “ตกแต่งบัญชี” ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสบความสำเร็จ ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ นอกเหนือจาก บุคคลภายในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่าง “ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO)” หรือ บุคลลภายนอก อย่าง “ผู้สอบบัญชี” นั้น

ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องร่วมรับผิดชอบ หากมีการกระทำที่ผิดกฎหมายแบบนี้ คือ “คณะกรรมการตรวจสอบ” ของบริษัทนั้น

กลุ่ม “คณะกรรมการตรวจสอบ” ของบริษัทจดทะเบียน มักจะถูกมองข้ามไป โดยทุกคนพร้อมจะพุ่งเป้าไปที่ CEO-CFO หรือ ผู้สอบบัญชี เป็นหลัก ว่าเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปิดเผยงบการเงินที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ทำไม “คณะกรรมการตรวจสอบ” จึงกลายเป็นต้นเรื่องของความฉิบหาย ในเรื่องของการตกแต่งบัญชี ได้ 

เนื่องจากขั้นตอนการคัดกรองความโปร่งใสของงบการเงินภายหลังจากที่ตรวจสอบแล้ว จะต้องผ่านด่านของ “คณะกรรมการตรวจสอบ” เป็นขั้นตอนการพิจารณางบก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบ และอนุมัติ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน

ขออธิบายขั้นตอนง่าย ๆ ให้เข้าใจ คือ เบื้องต้นทาง CFO ของบริษัท จะเป็นผู้ส่งงบการเงิน ทั้งงบสิ้นสุดรายไตรมาส หรืองบประจำปี ไปยัง ผู้สอบบัญชี ที่บริษัทได้ว่าจ้างมา 

“ผู้สอบบัญชี” จะเป็นผู้ที่ตรวจสอบความถูกต้องของงบการเงินที่ได้รับมาจาก CFO (คนในบริษัท) ว่ามีความถูกต้องตามมาตรฐานทางบัญชี หรือมีอะไรที่ไม่เหมาะสมบ้าง

ถ้าหากในกรณีที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ก็จะถูกตีกลับไปให้ CFO แก้ไข หรือปรับปรุง 

ในกรณีที่มีการแก้ไข และปรับปรุง จนได้มาตรฐานทางบัญชีตามที่เห็นสมควรของ “ผู้สอบบัญชี” แล้ว 

จากนั้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการของ ”คณะกรรมการตรวจสอบ” ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมีความรัดกุมในเรื่องของความถูกต้องตามกฎหมาย

เนื่องจาก ”คณะกรรมการตรวจสอบ” เป็นบุคคลภายนอกที่มีความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ กับทางบริษัท และถูกจ้างเข้ามาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่งบการเงินจะผ่านไปเป็นขั้นสุดท้าย

หากไม่มีข้อสงสัยใด ๆ “คณะกรรมการตรวจสอบ” จะบันทึกในรายงานการประชุม ภายหลังจากที่ได้ประชุมกับ ”ผู้สอบบัญชี” แล้วว่า ไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไข ก็จะสามารถอนุมัติให้รับรองงบการเงิน ก่อนที่จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

หน้าที่ของ “คณะกรรมการตรวจสอบ” คือ ด่านสำคัญมาก ๆ ที่จะสกัดกั้น งบการเงินที่ผิดมาตรฐานบัญชี 

โดยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้เลย เพราะกฎข้อบังคับของการเป็น “กรรมการตรวจสอบ” คือ “จะต้องมีความรู้ทางด้านงบและบัญชีการเงิน”

ข้อบังคับที่จะต้องมีความรู้ทางด้านบัญชี เพราะถ้าเกิดบริษัทจดทะเบียนกระทำความผิดจากข้อบังคับที่กำหนด “คณะกรรมการตรวจสอบ” จะต้องเห็นก่อน และชี้เบาะแสก่อน ที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ในกรณีที่ “คณะกรรมการตรวจสอบ” ที่ดี หากตรวจพบเจอความผิดปกติ ก็จะต้องรีบแจ้งต่อคณะกรรมการบริษัททันที เพื่อที่จะหยุดยั้งความผิดปกติ หรือ ไม่ได้เป็นไปตามกฎระเบียบของการเป็นบริษัทจดทะเบียน

เพราะหน้าที่หลัก คือ การสอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

อีกข้อที่สำคัญ คือ การให้ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัท

รวมถึงความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของ “ผู้สอบบัญชี” ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

ฉะนั้นด่านสำคัญของการทุจริต ในการแต่งงบการเงิน คือ “คณะกรรมการตรวจสอบ” ซึ่งถือเป็นจุดรอยต่อที่สำคัญ ที่สามารถจะเป็น “แนวป้องกัน” หรือ ”ตัวบ่อนทำลาย” ให้เกิดขึ้นกับบริษัท และผู้ลงทุนได้

หากบริษัทใดก็ตามในตลาดหุ้น ที่มีการทุจริตทางการเงิน ก็ถือเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. ควรจะต้องเข้าไปตรวจสอบ 

โดยเฉพาะ การสืบดูความสัมพันธ์ ของ “คณะกรรมการตรวจสอบ” ว่า มีความคุ้นเคยกับ “ผู้สอบบัญชี” ที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือไม่?

เพราะจุดที่เป็นรอยต่อของการทุจริต นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางด้านเงินทอง หรือผลประโยชน์ต่างตอบแทนของ “ผู้สอบบัญชี” จะได้รับแล้ว ยังมีเรื่องของการตอบแทนบุญคุณกันอีกด้วย 

ไม่เช่นนั้น คงไม่มีการช่วยเหลือกันมายาวนานข้ามปี ซึ่งในอีกทางหนึ่ง “กรรมการตรวจสอบ” ก็มีความสนิทสนมกับทางเจ้าของบริษัทอีกด้วย

นอกจากนี้ ทางการควรจะต้องเข้าไปไล่ดู วาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทในอดีตทุกรายการ ว่าทาง “คณะกรรมการตรวจสอบ” ได้มีการเซ็นหมายเหตุไว้อย่างไร? มีการตรวจสอบ และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น อย่างเท่าเทียมหรือไม่? 

ทุกบันทึกของวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัท จะเป็นตัวบ่งบอกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบ” ได้มีการปกป้อง หรือ ทำการสมรู้ร่วมคิด กับบริษัทในการสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนหรือไม่

Back to top button