กับดักแห่งโรงละครสัตว์ของสื่อ

กรณีของกำนันนกแห่งนครปฐมที่ถูกหมายหัวว่าเป็นผู้สั่งฆ่านายตำรวจทางหลวงทำท่าจะบานปลายมากกว่าคดีอาชญากรรมธรรมดา


กรณีของกำนันนกแห่งนครปฐมที่ถูกหมายหัวว่าเป็นผู้สั่งฆ่านายตำรวจทางหลวงทำท่าจะบานปลายมากกว่าคดีอาชญากรรมธรรมดา เพราะล่าสุดถูกนำมาเชื่อมโยงกับการแต่งตั้งผบ.ตร.

ผลพวงที่ตามมาคือข้อกล่าวหาว่ามีการ “หิวแสง” เกิดขึ้นในคดีดังกล่าว และคนที่อยากเป็นข่าวจนทำให้รูปคดีเสียหายได้ คือพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

ทำให้เห็นว่านอกจากความคล้ายคลึงกันกับทฤษฎีเกมชื่อทางสองแพร่งของผู้ต้องหา (prisoner’s dilemma) เป็นปัญหาพื้นฐานในทฤษฎีเกมซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุใดคนสองคนจึงอาจไม่ร่วมมือกันแม้ว่าทั้งสองจะได้รับผลประโยชน์มากดังที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ยังเข้าข่ายทฤษฎีสื่อสารมวลชนที่เรียกกันว่า “โรงละครสัตว์ของสื่อ”

Media Circus เป็นคำอุปมาหรือสำนวนที่ใช้เรียกขาน ซึ่งอธิบายถึงเหตุการณ์ข่าวที่ระดับการรายงานข่าวของสื่อ วัดโดยปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนนักข่าวในที่เกิดเหตุ และปริมาณสื่อที่ออกอากาศหรือตีพิมพ์ ถือว่ามากเกินไปหรือเกินเลย ตามสัดส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การรายงานข่าวและพาดหัวข่าวที่โลดโผนสามารถเพิ่มการรับรู้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นหัวข้อของละครสัตว์ในสื่อได้

คำนี้มีไว้เพื่อวิจารณ์การรายงานข่าวของเหตุการณ์โดยเปรียบเทียบกับการแสดงและขบวนแถวของละครสัตว์

การใช้คำในแง่นี้กลายเป็นเรื่องปกติในคริสต์ทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเวียดนาม นอกจากนี้ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นความคลั่งไคล้ในการป้อนสื่อหรือเพียงแค่คลั่งไคล้สื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันครอบคลุมการรายงานข่าวของสื่อ

ข่าวกำนันนกนี้คงจะทำให้ดราม่าของการเมืองไทยหลุดไปจากความน่าสนใจชั่วคราว ซึ่งกว่าสังคมจะรู้ตัวก็ผ่านไปนานแล้วจนทำให้รัฐบาลรอดจากการถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนโยบายรัฐ

เรื่องนี้ทำให้หวนย้อนไปถึงกรณีที่สังคมไทยเคยหมกมุ่นกับข่าวซีอุยกินตับเด็ก และข่าวอันธพาลวัยรุ่น แดงไบเล่ย์ ที่ถูกนำมาใช้บดบังการใช้อำนาจเผด็จการของคณะทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่อมาตำรวจที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับว่าเป็นข้อมูลเท็จ

ท้ายสุดคนที่รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเป็นรัฐบาลเองที่สามารถเบนความสนใจจากข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินงานในโครงการเงินคริปโตฯ ที่จะเอามาแจกประชาชน 5.5 แสนล้านบาท ว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนไหน

กรณีกำนันนกอาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับกรณีประธานาธิบดีจอร์จ บุชจูเนียร์ ที่ใช้กรณีบินลาเดนและกลุ่มอัลกออิดะห์โจมตีนิวยอร์กและกรุงวอชิงตันดีซีมาใช้โค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซ็นและรัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถาน โดยเอามาเชื่อมโยงกับการรังแกชาวมุสลิมทั่วโลกด้วยข้อมูลเท็จทั้ง ๆ ที่ในเนื้อหาสาระไม่ต่างกันเท่าไร นั่นคือการสร้างสถานการณ์ผ่านสื่อ

กรณีกำนันนกน่าจะทำให้เราได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองสมคบคิดกันสร้างกับดักแห่งโรงละครสัตว์ของสื่อผ่านข้อมูลเท็จหรือจริง เพื่อสร้างกระแสในลักษณะข่าวใหม่กลบข่าวเก่าผ่านสื่อเทียมและสื่อจริงเพื่อเบี่ยงเบนสังคมให้ไขว้เขวผ่านปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้ง IO อย่างมีพลัง

X
Back to top button