‘ขว้างงูไม่พ้นคอ’ เมื่อนายกวีไอ เรียกร้อง ‘Fair Disclosure’

บรรทัดฐาน ในการเรียกร้องสิทธิ เพื่อนักลงทุนรายย่อย ให้เกิดความเท่าเทียม ในการรับข้อมูลสำคัญ อันนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ หรือขายหุ้นรายตัว


บรรทัดฐาน ในการเรียกร้องสิทธิ เพื่อนักลงทุนรายย่อย ให้เกิดความเท่าเทียม ในการรับข้อมูลสำคัญ อันนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ หรือขายหุ้นรายตัว ของนายเชาว์ เฉลิมเดช นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ThaiVI) มีความย้อนแย้งในตัวเอง อย่างเห็นได้ชัด

การเรียกร้องให้ นักลงทุนรายย่อยได้สิทธิเข้ารับฟังข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) พร้อมกับการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ทั้ง ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลของบจ. ผ่านกิจกรรม Opportunity Day ให้กับนักลงทุนทั่วไป ช่วงรายไตรมาสอยู่แล้ว ถือเป็นการเรียกร้องที่ไม่เข้าท่าสักเท่าไหร่

โดยเฉพาะการใช้ข้ออ้างเรื่องของ Fair Disclosure ซึ่งพูดออกมาเหมือนคนเพิ่งเข้ามารู้จักตลาดหุ้นไม่นาน ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวเคยทำงานในตลาดทุนมานานจะเรียกว่า “ไม่รู้” หรือ “แกล้งไม่รู้” ว่านักวิเคราะห์มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง!? ตรงนี้เกินจะคาดเดา

บทบาทและหน้าที่ของนักวิเคราะห์  คือ ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจในตัวหุ้น และสรุปเป็นคำแนะนำ ใช้ตัดสินใจก่อนจะ “ซื้อ” หรือ “ขาย” หุ้นให้กับผู้ลงทุน

แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของนักวิเคราะห์ มีกฎที่ชัดเจน และถูกขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานก.ล.ต. หากกระทำความผิด จะต้องได้รับโทษทัณฑ์ ไม่ว่าจะแอบซื้อขายหุ้น หรือ นำข้อมูลของบจ.ก่อนเผยแพร่กับมหาชนไปใช้ล่วงหน้า แต่สำหรับสมาชิกวีไอที่ได้ข้อมูลแบบ CV ไม่ได้ถูกกำกับ

โดยความย้อนแย้งดังกล่าว มันยิ่งมีมากขึ้นไปอีก เมื่อมาเห็นกิจกรรมที่ทาง ThaiVI จัดให้มีลงทะเบียน การเยี่ยมชมกิจการ (CV) แต่เป็นลักษณะวงปิดจำกัดจำนวนรอบละ 30-50 ที่นั่ง ผ่านช่องทางของสมาคมฯ

ในแต่ละรอบ จะสงวนสิทธิ์เฉพาะสมาชิก ThaiVI เท่านั้น ซึ่งการเป็นสมาชิกต้องมีการเก็บค่าใช้สมัครรายปี 

แค่นี้ก็ไม่ต้องพูดถึง ความ Fair แล้ว เพราะจะไม่มีการ Live หรือ ถ่ายทอดสด ผ่านช่องทางใด ๆ เลย ทำได้แค่รอให้สมาชิกที่ไปฟังมา เขียนเนื้อหาออกมาแชร์ในกลุ่มของตนเอง

พฤติกรรม “ขว้างงูไม่พ้นคอ” ดังกล่าวสามารถทำให้ถูกมองได้ว่า “ย้อนแย้ง” กับสิ่งที่ “นายกสมาคมวีไอ” ได้เรียกร้องเรื่องของ Fair Disclosure มาโดยตลอด

แม้เบื้องหน้าดูเหมือนดีที่ออกมาเรียกร้องให้รายย่อยที่เข้าไม่ถึงข้อมูล หรือถูกเอาเปรียบได้เกิดความเท่าเทียม แต่พอเห็นกิจกรรมที่ ThaiVI กระทำอยู่มาช้านานแล้ว ถือว่าสวนทาง และคงทำให้อดคิดในใจไม่ได้ว่ามันจะเข้าข่าย “มองความผิด เป็นของคนอื่นไปหมด” ได้หรือไม่!?

แน่นอนเลยว่า การเข้าไป CV ของ ThaiVI แบบปิดกั้นและจำกัดวงแคบแบบนี้ ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า สไตล์คำถามของสมาชิกวีไอที่ได้สิทธิพิเศษในการเข้าไป CV บริษัทนั้น ๆ จะมีคำถามเชิง Guidance มากน้อยแค่ไหน?

ลำพังถามเฉพาะแค่ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท คงนอนอยู่บ้านเปิดแบบ 56-1 ของตลท.อ่าน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว คงไม่ต้องบากบั่น หรือลำบากไป CV ที่บริษัท

ทั้งนี้ การเรียกร้องให้การประชุมนักวิเคราะห์ มีการเปิดเผยข้อมูลแบบถ่ายทอดสด ที่มีการเสนอถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้มีกลิ่นอายหรือความเป็น Fair Disclosure ได้จริง ๆ และในเมื่อเป็นเช่นนั้น การเข้าไป CV ของสมาชิกสมาคมวีไอก็ควรจะมีด้วยเช่นกัน 

เนื่องจาก การเปิดเผยข้อมูลต่อ นักวิเคราะห์ กับ สมาชิกสมาคมวีไอ ควรจะเป็นข้อมูลที่เหมือนกัน มิเช่นนั้นอาจเข้าข่ายเป็นการ Insider Trading 

ที่ผ่านมา มีความเลื่อมล้ำตรงที่ว่า บางบริษัทเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ที่เข้าไป CV มากกว่านักวิเคราะห์ เพราะนักวิเคราะห์มีกฎหมายหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.จ่อคอหอยอยู่ 

ในบางกรณี ภายหลังจากที่ผู้บริหารได้ให้ข้อมูลในการประชุมนักวิเคราะห์ไปเรียบร้อยแล้วว่า แนวโน้มไม่ดี แต่ผ่านไป 2 เดือน ทุกอย่างกลับมาดีขึ้น แต่ยังไม่มีโอกาสประชุมนักวิเคราะห์ แต่กลับมีนักลงทุนบางกลุ่มเข้าไป CV รับทราบข้อมูลเชิงบวกดังกล่าวก่อน แล้วกลับมาซื้อหุ้น แบบนี้ ถือว่าเข้าข่าย Inside ที่ไม่ใช่ Insight อย่างแน่นอน

Fair Disclosure ข้อมูลบจ.ในโลกของความเป็นจริงจะมีความเท่าเทียมเกิดขึ้นได้จริง หากทำให้เกิดความ Fair ทั้งกลุ่มตนเองและผู้อื่น 

“ไม่ใช่เกิดจากกลุ่มตนเองทำได้ แต่คนอื่นทำ คือ ผิด” แบบนี้ไม่ดี เพราะความเสื่อมเสียทั้งหมดจะเกิดขึ้นกับคนที่ออกมาร้องเรียนนั่นเอง

Back to top button