DPB : สกัดหุ้นปั่น-ประโยชน์ที่ผู้ลงทุนได้รับ

มาตรการยกระดับการกำกับดูแลที่อยู่ในกลุ่มของการลดความผันผวนที่ผิดปกติของการเคลื่อนไหวราคาหุ้นรายตัว ที่ดึงเอา DPB มีประโยชน์ต่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างไรบ้าง?


มาตรการยกระดับการกำกับดูแลที่อยู่ในกลุ่มของการลดความผันผวนที่ผิดปกติของการเคลื่อนไหวราคาหุ้นรายตัว ที่ดึงเอา Dynamic Price Band : DPB หรือ Circuit Breaker หุ้นรายตัว ที่จะเริ่มใช้ในช่วงปลายไตรมาส 2/67 นั้น มีประโยชน์ต่อ ผู้ลงทุนทั่วไปอย่างไรบ้าง?

1.เครื่องมือ สกัดหุ้นปั่น-กรณีที่ราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมีการเคลื่อนไหวแบบผิดปกติ จากการส่งคำสั่ง (Order) ซื้อหุ้น ในลักษณะที่เป็น “Aggressive Order”

โดยหมายความถึง การส่งออเดอร์  “ซื้อหุ้น” แบบรวดเดียว หรือ มาจากกลุ่มเดียวกันแบบกระจุกตัว จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ การชี้นำของราคาหุ้นอย่างรวดเร็วชนิดที่เรียกว่า “ผิดปกติ” +10% จากราคาซื้อขายล่าสุด โดยที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐาน หรือ ไม่มีข้อมูลข่าวสารเชิงบวกมารองรับ หรือสนับสนุนลักษณะดังกล่าวจะถูก DPB เข้ามาควบคุมทันที

การนำ DPB มาใช้เป็นเครื่องมือตรวจจับหุ้นที่มีราคาและวอลุ่มการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไปจากวันปกติทั่วไป โดยมีการสกัดที่ระดับ +10% นั้น ถือเป็น “การสกัดกั้นที่ตลาดสามารถ action ทำได้ทันที” ที่เข้าเงื่อนไขของเกณฑ์ Trigger ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีต 

ในทางปฏิบัติเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า “ทางการ” ไม่สามารถ สอบถามข้อมูลพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากบริษัทจดทะเบียน ก่อนที่ราคาหุ้นพุ่งชน ceiling (+30%) ได้ 

แต่จะสอบถามได้ก็ต่อเมื่อ ราคาหุ้นชน ceiling ไปแล้ว และต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ช่วงตอนที่ตลาดหยุดซื้อขายเท่านั้น และไม่สามารถที่จะเผยแพร่ คำตอบที่ได้จากบริษัทในระหว่างเทรดได้ 

การมี DPB จะช่วยชะลอการดันราคาหุ้นแบบชี้นำจากการกระทำโดยเจตนาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องการดันราคาหุ้นให้พุ่งขึ้น แม้จะมีข่าวดีที่ยังไม่เปิดเผย หรือไม่มีก็ตาม 

ป้องกันการสร้างราคาหุ้นที่จะบิดเบือนไปจากพื้นฐานปัจจุบันของบริษัท และป้องกันการใช้อินไซด์มาซื้อหุ้นก่อนที่จะมีการแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

2.เครื่องมือ ชะลอการทุบหุ้น-กรณีที่ราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวแบบผิดปกติ จากการส่งคำสั่ง (Order) ขายหุ้น ในลักษณะที่เป็น “Aggressive Order”

โดยหมายความถึง การส่งออเดอร์  “ขายหุ้น” แบบรวดเดียว หรือมาจากกลุ่มเดียวกัน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการแพนิกเซลล์ ของการชี้นำราคาหุ้นแบบ “ผิดปกติ” -10% จากราคาซื้อขายล่าสุด แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานไปในเชิงลบ ลักษณะดังกล่าว จะถูก DPB เข้ามาควบคุมทันที

การเทขายหุ้นในลักษณะดังกล่าว โดยปกติทั่วไปมักไม่ค่อยพบเห็น แต่มักจะเกิดขึ้น กับบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลบของบริษัท ก่อนที่จะมีการชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 

ออเดอร์ที่ขายออกมาอย่างรวดเร็ว และจำนวนมากแบบกระจุก ส่วนใหญ่จะเป็น ออเดอร์ของกลุ่มที่ล่วงรู้ข้อมูลเชิงลบก่อน จึงมีการเทขายหุ้นออกมาอย่างรวดเร็ว เพราะเกรงว่าจะไม่ทันการ 

การมี DPB จะช่วยชะลอไม่ให้กลุ่มที่เข้าข่ายเงื่อนไข Trigger หรือ กลุ่มอินไซด์เดอร์ข้อมูล ขายหุ้นออกมารวดเดียวหมด 

การเบรกทุก-10% ของ DPB จะช่วยชะลอแรงขาย แม้สุดท้ายราคาหุ้นจะร่วงติด floor ก็ตาม แต่อย่างน้อย ๆ ก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่หาได้ ณ ตอนนี้  ที่ทางการนำออกมาใช้เบรกหุ้นช่วงขาลงได้

เพื่อเป็นการสร้างบาลานซ์ในการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ให้เกิดความเสมอภาค ไม่ว่าหุ้นจะบวกแรง หรือลงแรงก็ตาม และถือเป็นการลบคำครหา ที่เคยมีมาว่า

“ทางการ เบรกหุ้นขึ้น แต่พอหุ้นลงกลับไม่เบรก ออกไปจากหัวสมองของนักลงทุนเสียที”

อึ้งย้ง

Back to top button