พาราสาวะถี

จากที่ถูกคาดหมายกันว่าจะเป็นวันโลกาวินาศ ประเทศไทยจะวุ่นวาย ในที่สุด 18 มิถุนายนวันวานที่ผ่านไป กับ 4 คดีสำคัญ


จากที่ถูกคาดหมายกันว่าจะเป็นวันโลกาวินาศ ประเทศไทยจะวุ่นวาย ในที่สุด 18 มิถุนายนวันวานที่ผ่านไป กับ 4 คดีสำคัญ ไม่มีอะไรให้หวาดเสียวกันแม้แต่น้อย เริ่มจากคดี ทักษิณ ชินวัตร ที่อัยการสูงสุดนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลในความผิดมาตรา 112 อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางมาพบอัยการตามนัดหมาย มีการนำตัวฟ้องต่อศาลไม่ได้ค้านประกันตัว ศาลรับฟ้อง ทนายความยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราววางเงินประกัน 5 แสนบาท ศาลอนุญาตโดยมีเงื่อนไข ให้จำเลยวางหนังสือเดินทาง และห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต

เป็นไปตามคาด โดยเหตุผลที่ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวนั้น เนื่องจากได้พิเคราะห์แล้วจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด อายุมาก ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่กับครอบครัว ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว มีเหตุสมควรเชื่อว่าหากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา จำเลยจะไม่หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือขัดขวางการพิจารณาของศาล

บรรดาพวกปล่อยข่าวกันก่อนหน้าด้วยสารพัดวิธีก็หงายเงิบกันไปตามระเบียบ ซึ่งคดีนี้ต้องสู้กันถึงฎีกา จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ทักษิณต้องหนี ทั้งนี้ ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐาน เวลา 09.00 น. วันที่ 19 สิงหาคมนี้ ที่ว่าจะสะเทือน สร้างแรงกระเพื่อมกับพรรคเพื่อไทยและกระทบไปยังรัฐบาลก็มีอันจบไป เช่นเดียวกับคดีของ เศรษฐา ทวีสิน ที่ถูก 40 สว.ร้องถอดพ้นจากเก้าอี้นายกฯ จากเหตุการตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็น และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 10 กรกฎาคมนี้ โดยที่พยานซึ่งนายกฯ ยื่นเพิ่มไป 1 รายนั้นก็คือ ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นบุคคลที่รู้กระบวนการทั้งหมด

อย่างที่บอกไว้ว่าคดีนี้ยังไงก็ยืดเยื้อ ยิ่งการได้ วิษณุ เครืองาม มานั่งที่ปรึกษานายกฯ ยิ่งทำให้เศรษฐาเบาใจได้ ล่าสุดก็ตอบคำถามนักข่าวเรื่องรอดหรือไม่รอด ทำให้พอจะมองเห็นภาพในกระบวนการต่อสู้คดีได้ โดยเนติบริกรรายนี้บอกว่า หากจะให้ชี้ว่าไม่รอดแน่ ๆ ก็จะประหลาด หรือจะให้บอกว่ารอดแน่ ๆ ก็พูดไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในกระบวนการของศาล เพื่อให้ศาลสบายใจ ส่วนรายละเอียดคำชี้แจงเดี๋ยวคงมีการเปิดเผยกันออกมาเอง ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร แต่ชั้นนี้ศาลยังไม่ได้พิจารณา จะมาพูดแถลงนอกศาลไม่ได้

ปมสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดตามที่ได้ย้ำมาโดยตลอดเป็นเรื่องของจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งประเด็นนี้วิษณุบอกว่า อย่างอื่นสามารถพิสูจน์เป็นรูปธรรมได้ เช่น เคยติดคุกหรือไม่ เคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรมไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ หากไม่มีกระบวนการโดยเฉพาะต่างหาก เรื่องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อยู่ ๆ จะไปบอกว่าใครไม่ซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะทำให้ขาดคุณสมบัติตลอดชีวิต

ยิ่งได้ฟังคำอธิบายยิ่งทำให้เห็นแนวทางการต่อสู้กับโอกาสสูงที่เศรษฐาจะรอด นั่นก็คือ กรณีแต่งตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรีกับสิ่งที่ถูกกล่าวหาไม่ได้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ หากจะเอาผิดต้องเป็นกรณีอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วกระทำความผิดที่สะท้อนภาพความไม่ซื่อสัตย์สุจริต พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ การจะชี้ความผิดว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมนั้น ต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากรับตำแหน่งไปแล้ว กรณีพิชิตได้ออกจากตำแหน่งไปแล้ว ตั้งไปแล้ว เป็นรัฐมนตรีแล้ว พอจะมองเห็นภาพกันว่าได้กระทำผิดในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่

ต้องอย่าลืมว่า ผลจากการตัดสินคดีเศรษฐานั้นจะเป็นบรรทัดฐาน กรณีนี้เหมือนที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ แม้วิษณุจะไม่ตอบคำถามนักข่าว แต่ก็เห็นแล้วว่ากระบวนการต่อสู้ในศาลนั้นจะชี้ให้เห็นว่านายกฯ ไม่รู้พฤติกรรมในอดีต หรือแม้จะรู้ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ก็ไม่มีหน่วยงานไหนมาชี้ว่าพิชิตเป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เห็นแนวโน้มกันอย่างนี้ในแง่ของความหวั่นวิตกเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลก็น่าจะหมดไป ประกอบกับมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญถกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 น่าจะทำให้ทุกอย่างสดใสขึ้น

ส่วนคดียุบพรรคก้าวไกลนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 3 กรกฎาคม และกำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคมนี้ เป็นอันว่าที่คาดหมายกันน่าจะจบเร็วก็ยืดเยื้อ แต่ทิศทาง โอกาสรอดหรือถูกยุบนั้น ยังมองกันว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า

คดีสำคัญที่คนให้ความสนใจไม่แพ้กัน เพราะเกี่ยวพันกับการเลือก สว.ที่กำลังดำเนินอยู่นั่นก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคำร้องที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

ปรากฏว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า 4 มาตราของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ทำให้ กกต.โล่งอก สบายใจ สามารถเดินหน้ากระบวนการเลือกในระดับประเทศต่อไป พวกลากตั้งที่หวังจะล้มเพื่อได้รักษาการต่อก็รับประทานแห้วไปตามระเบียบ ความเคลื่อนไหวทั้ง 4 คดีที่เป็นไป น่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ว่าประเทศต้องเข้าสู่โหมดเดินหน้า ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้แล้ว ไม่สมควรที่จะต้องมาติดหล่มกับสถานการณ์ทางการเมืองอีกต่อไป

อรชุน

Back to top button