มาตรฐาน PwC

มีคำถามตามมาที่ทำให้การพูดถึงบริษัทตรวจสอบบัญชีที่เชื่อกันว่าเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกทั้งในด้านขนาดความใหญ่ และ มาตรฐานของพนักงาน อย่าง PwC หรือ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers) ยังจบไม่ลง


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

มีคำถามตามมาที่ทำให้การพูดถึงบริษัทตรวจสอบบัญชีที่เชื่อกันว่าเป็นหายเลขหนึ่งของโลกทั้งในด้านขนาดความใหญ่ และ มาตรฐานของพนักงาน อย่าง PwC หรือ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์(PricewaterhouseCoopers) ยังจบไม่ลง

เหตุผลก็เพราะเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า กรณีที่เลขาธิการ ก.ล.ต. นายรพี สุจริตกุล ให้สัมภาษณ์ตั้งคำถามคุณภาพการตรวจบัญชีของผู้ตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานนี้ ในกรณีงบการเงินของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH จะเป็น “มวยล้มต้มคนดู” หรือไม่

เหตุผลก็เพราะที่ผ่านมา ก.ล.ต.ค่อนข้างเชื่อมั่นกับ “มาตรฐาน PwC” หรือ “มาตรฐาน Big4” มายาวนาน ไม่เคยตั้งคำถามเลย จนครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ผู้ตรวจบัญชีอิสระของคนไทย เคยแสดงความคับข้องใจให้เห็นกันพักใหญ่ๆ ว่า ก.ล.ต.เลือกปฏิบัติ “หลงของนอก” อย่างมีอคติหรือไม่ ซึ่งคำถามดังกล่าว ยังไม่เคยมีคำตอบ

ครั้งนี้ ในกรณีของ EARTH อาจจะมีคำตอบที่ชัดเจนทั้งโดยนิตินัย และ พฤตินัย  หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้น

PwC เป็นใคร? มีมาตรฐานเยี่ยมแค่ไหน?

ข้อมูลทั่วไปที่รับทราบกันคือ เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกควบคู่กับ ดีลอยต์ทูชโทมัตสุ เอินส์ท แอนด์ ยัง และ เคพีเอ็มจี

นอกจากธุรกรรมการตรวจสอบบัญชีแล้ว PwC ยังมีอีกหลากหลายบริการ ตั้งแต่ 1) การเป็นที่ปรึกษาภาษีอากร 2) การจัดซื้อ การจัดหาทรัพยากรบุคคล 3) การให้บริการด้านเทคโนโลยี และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการให้บริการในลักษณะการจัดหาจากภายนอก ให้แก่ลูกค้าองค์กร 5) นอกจากนี้ ยังให้บริการที่ปรึกษาการเงินและการบริหารการประกันภัยอีกด้วย

สำนักงานใหญ่หรือ ฐานประกอบการของ PwC อยู่ในกรุงลอนดอน ปัจจุบันมีพนักงานในสังกัดทุกรูปแบบ ประมาณ 184,000 คน และสำนักงานราว 757 แห่งใน 157 ประเทศทั่วโลก

แต่เดิมนั้น PwC ไม่ได้ใหญ่โตมากเท่านี้ แต่จุดเริ่มสำคัญมาจากการควบรวมกิจการกันในปีค.ศ. 1957 ระหว่าง ไลแบรนด์ รอส บราเธอร์ส แอนด์ มอนกอเมอรี เข้ากับ คูเปอร์ส บราเธอร์ส ก่อนจะมาใช้ชื่อที่เรียกง่ายๆ ในปีค.ศ. 1960 ว่า  คูเปอร์ส แอนด์ ไลแบรนด์ ขยายบริการเข้าไปในเรื่องการจัดการผลประโยชน์ลูกจ้างและการให้คำปรึกษาด้าน การควบคุมภายใน และเริ่มพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีของตนในช่วงปีค.ศ. 1970 โดยพยายามจะพัฒนากระบวนการสอบบัญชีให้เป็นแบบอัตโนมัติ

การขยายตัวทางลัดไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เพราะในช่วงปีค.ศ. 1989 ถึง 1998 คูเปอร์ส แอนด์ ไลแบรนด์ สูญเสียส่วนแบ่งตลาดเพราะการรวมกิจการกันในระหว่างสำนักงานบัญชียักษ์ใหญ่ใหญ่ทั่วโลก จำนวนสำนักงานบัญชีที่ใหญ่ที่สุดระดับระหว่างประเทศ ลดลงจาก 8 แห่งเหลือเพียง 6 แห่ง และ คูเปอร์ส แอนด์ ไลแบรนด์ ยังต้องเสียค่าปรับจำนวน 95 ล้านดอลลาร์ในปี 1992 ในคดีที่ถูกฟ้องร้องของบริษัท มินิสไกลป์ ผู้ผลิตดิสก์ไดรฟ์ที่เลิกกิจการ และยังต้องจ่ายค่าปรับอีก 108 ล้านดอลลาร์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่มสลายของอาณาจักรธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่ของ โรเบิร์ต แมกซ์เวล ราชาสื่อสิ่งพิมพ์คู่ปรับของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก

ในปี ค.ศ. 1984 บริษัทตรวจสอบบัญชี 2ราย คือ ดีลอยท์ แฮสคิน แอนด์ เซล มีความพยายามจะรวมกิจการกับบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ถือหุ้นฝ่ายอังกฤษของบริษัทหลัง คัดค้าน และหันเหการตัดสินใจไปควบรวมเข้ากับ คูเปอร์ส แอนด์ ไลแบรนด์ แทนในปี 1998 และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส การรวมกิจการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมความแข็งแกร่งในธุรกิจสื่อ บันเทิงและสาธารณูปโภคของ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ เข้ากับความแข็งแกร่งของ คูเปอร์ส แอนด์ ไลแบรนด์ ในธุรกิจโทรคมนาคมและเหมืองแร่ กลายเป็น PwC อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

1 ปีต่อมา PwC พยายามขยายอาณาจักรต่อ แต่ล้มเหลว เพราะการเจรจาควบรวมกิจการกับ แกรนท์ ธอนตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่เป็นผล ทำให้ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ต้องปลดพนักงานออก 1,000 ตำแหน่ง และยุบเลิกตำแหน่งที่ ล้าสมัยเพื่อนำที่ปรึกษาทางอินเทอร์เน็ตเข้ามา เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ในช่วงฟองสบู่ดอทคอมแตก ในค.ศ. 2000 ก.ล.ต.ของสหรัฐฯ ได้สอบสวน PwC เข้มข้น หลังพบว่า บริษัทมีผลประโยชน์ทับซ้อนขัดแย้งกว่า 8,000 กรณี ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้ร่วมถือหุ้นเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทที่เป็นลูกค้าบริการสอบบัญชีเข้าข่าย “ชงเองตบเอง” และสั่งการให้ แยกธุรกิจตรวจสอบบัญชี ออกจากธุรกิจที่ปรึกษาทางธุรกิจทั้งหลายจากกัน (ขายธุรกิจหลังให้กับไอบีเอ็ม) ซึ่งกลายเป็นผลดี เพราะบริษัทอีกรายที่แยกไม่ทันคือ อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซนต้องล้มไปเสียก่อนจากกรณีเอนรอนในปี ค.ศ. 2002

การล่มสลายของ อาร์เธอร์แอนเดอร์เซน ทำให้ PwC ได้รับของขวัญชิ้นใหญ่เพราะสามารถเข้าไปทุ่มเงินรับช่วงหน่วยธุรกิจ และพนักงานฝีมือดีของอดีตคู่แข่งที่ล่มสลาย

ความใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของ PwC ไม่ได้ทำให้ปราศจากเรื่องอื้อฉาว เพราะในปี ค.ศ. 2006 PwC สาขาอินเดียก็ถูก ก.ล.ต.สหรัฐฯสั่งปรับเงิน 6 ล้านดอลลาร์ หลังจากยอมรับว่าถูกผู้บริหารบริษัทไอทีอินเดียหลอกเรื่องแต่งบัญชีหัวปักหัวปำยาวนาน 9 ปี อย่างเซื่องๆ ก่อนที่บริษัทดังกล่าวชื่อ Satyam Computer Services จะล่มสลายเพราะถูกผู้บริหารฉ้อฉลเงินไป 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อเท็จจริงบางส่วนเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า “มาตรฐาน PwC” หรือ “มาตรฐาน Big4” นั้น เอาเข้าจริง ก็สามารถบิดเบี้ยวได้เช่นกัน หากไม่มีการกำกับดูแล

กรณีของ EARTH (และอาจจะตามมาด้วยกรณีอื่นๆ เช่น IFEC หรือ AJA หรือ POLAR) อาจจะทำให้ ก.ล.ต.ตาสว่างขึ้นได้มากกว่าการการตกอยู่ใต้มายาคติ “หลงของนอก” แบบที่คนตั้งคำถามเอาไว้

น่าจะได้รับคำตอบชัดกัน ก็คราวนี้ เพราะไม่มีโอกาสไหนจะดีเท่านี้อีกแล้ว

ส่วนคำถามว่า หากไม่มี “มาตรฐาน PwC” หรือ “มาตรฐาน Big4” แล้วจะมีมาตรฐานอื่นหรือไม่ ก็คงเป็นความท้าทายในอนาคตกันต่อไป

Back to top button