คัดแล้ว! 5 หุ้น mai ปี 61 ตัวท็อป เน้นกำไรโตต่อเนื่อง-อัพไซด์เพียบ

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ทำการรวบรวมหุ้นน่าลงทุนปี 2561 โดยเฉพาะหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นธุรกิจขนาดกลาง โดยครั้งนี้จะขอนำเสนอหุ้นที่มีกำไรสุทธิต่อเนื่องดป็นหลัก อีกทั้งมีราคาเป้าหมายให้เข้าลงทุน


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ทำการรวบรวมหุ้นน่าลงทุนปี 2561 โดยเฉพาะหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นธุรกิจขนาดกลาง โดยครั้งนี้จะขอนำเสนอหุ้นที่มีกำไรสุทธิต่อเนื่องดป็นหลัก อีกทั้งมีราคาเป้าหมายให้เข้าลงทุน

โดยข้อมูลครั้งนี้นำมาจากบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ซึ่งหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 5 ตัวคือ ACAP, LIT, FSMART, SPA และ NETBAY ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สำหรับบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP มีธุรกิจ1. ธุรกิจการให้สินเชื่อ แบ่งเป็น สินเชื่อภาคธุรกิจ (Corporate Loan) และสินเชื่อรายย่อย (Retail Loan) 2. ธุรกิจให้บริการรับจ้างดำเนินงาน (Business Process Outsource Services) เช่น ให้บริการ Call center และ การติดตามหนี้ 3. ธุรกิจให้บริการด้านที่ปรึกษากฎหมายและสอบทานกระแสเงินสด (Cash Monitoring) 4. ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อจะฟื้นกลับสู่ปกติในปี 61  โดยคาดว่าจะเติบโตราว 20% และจะยังเน้นขยายสินเชื่อขายฝากสินทรัพย์ เนื่องจากมองว่ายังมีความต้องการอีกมากในช่วงเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ส่วนการรับรู้กำไรจากการขายที่ดินที่หลุดจำนองในปีหน้ายังคงจะมีอีก 1-2 แปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของบริษัท ซึ่งการขายที่ดินจากการหลุดจำนอง บริษัทไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้น แต่หากจำเป็นต้องเกิดขึ้นก็เชื่อมั่นว่าด้วยการคัดเลือกที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพจะสามารถขายได้ผลกำไรเป็น 100% หากหลุดจำนอง

 

ด้านบริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ LIT ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อโดยไม่ตีกรอบแคบเฉพาะสินเชื่อกลุ่มธุรกิจหรือสินค้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เท่านั้น แต่บริษัทสามารถทําธุรกิจในวงกว้างนอกภาคธุรกิจ IT ด้วย โดยสามารถเข้าไปสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมตามที่ลูกค้าต้องการ

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยคาดว่าจะขยายพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อรวมให้ไปถึง 2,200 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อแตะ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ตามเป้าหมาย ส่งผลให้สินเชื่อ รายได้ และกำไร ของบริษัทฯนิวไฮต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นที่ให้ความไว้วางใจ LIT ด้วยดีเสมอมา

 

ส่วนบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการชำระเงินออนไลน์ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ (ตู้เติมเงิน) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “บุญเติม”

บริษัทคาดสิ้นปี 60 มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทจะสามารถติดตั้งตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติมได้ 124,000 ตู้ จากเดิมที่วางเป้าหมายไว้ที่ 122,000 ตู้ เนื่องจากตัวแทนบริการสามารถหาพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อขยายการติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะส่งผลต่ออัตรายอดเติมเงินที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น บริษัทจึงวางเป้าหมายยอดเติมเงินโดยรวมในปี 60 เพิ่มเป็น 35,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 32,000 ล้านบาท จากจำนวนตู้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นดังกล่าว ประกอบกับการเพิ่มบริการหน้าตู้ใหม่ๆ เพื่อให้มีความหลากหลายและครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค ที่จะส่งผลให้มียอดการใช้บริการหน้าตู้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยทั้งหมดถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดเติมเงินโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะบริการโอนเงินที่ปัจจุบันมีการให้บริการโอนเงินสำหรับธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยขณะนี้มียอดการใช้เพิ่มเป็น 24,000 รายการต่อวันจาก 21,000 รายการในไตรมาส 3/60 ทั้งนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเพิ่มธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เข้ามาในระบบการโอนเงินผ่านตู้เติมเงินบุญเติม เชื่อว่าจะสามารถให้บริการได้ไม่เกินเดือนม.ค.61 รวมทั้งเจรจากับอีก 2 ธนาคารเพื่อให้ตู้เติมเงินบุญเติมเป็นตัวแทนการโอนเงิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินครึ่งแรกปี 61

สำหรับการดำเนินงานปี 61 นายสมชัย กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทยังดำเนินการตามแผนเดิมที่สามารถสร้างอัตราการเติบโตให้กับบริษัทมาโดยตลอด แต่มีแผนเพิ่มเติมในการขยายตู้เติมเงินเข้าสู่พื้นที่ชุมชน อาทิ ตำบลต่างๆในพื้นที่ต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ไม่สะดวกในการเดินทางให้สามารถทำธุรกรรมต่างๆได้

รวมถึงนโยบายที่จะเพิ่มยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ให้มากขึ้น ด้วยการหาบริการใหม่ๆเพื่อให้บริการหน้าตู้เพิ่มความหลากหลายและครบครัน ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางในการเพิ่มยอดเติมเงินแล้ว ยังช่วยขยายฐานลูกค้าในการใช้ตู้บุญเติมเพิ่มขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปแผนงานดำเนินงานในปีหน้าเพื่อแนวทางที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นต่อไป

 

ส่วนบริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA ดำเนินธุรกิจด้านสปาเพื่อสุขภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสปา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจสปา ภายใต้แบรนด์ “Let’s Relax” แบรนด์ “RarinJinda Wellness Spa” และแบรนด์ บ้านสวนมาสสาจ 2.ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ในนาม “โรงแรม ระรินจินดา เวลเนส สปา รีสอร์ท” เป็นโรงแรมสไตล์บูติก ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหารในนาม “Deck 1” และร้านอาหาร “D Bistro” 3.ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปาภายใต้แบรนด์ “Blooming” 4.กิจการโรงเรียนเกี่ยวกับการนวดแผนไทยในนาม “โรงเรียนสอนนวดแผนไทยบลูมมิ่ง” เพื่อให้การอบรมบริการนวดและสปาแก่พนักงานเทอราพิสต์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของบริษัท

สำหรับผลประกอบการในปี 60 บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตราว 30% จากปีก่อน เป็นไปตามการเติบโตทั้งจากสาขาเดิมและสาขาใหม่ และแนวโน้มครึ่งปีหลังนี้ผลประกอบการน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากเป็นช่วงของไฮซีซั่นของธุรกิจสปา โดยครึ่งปีแรกบริษัทมีการเติบโตจากสาขาเดิมราว 9% ขณะที่คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะอยู่ที่ 35-40% และอัตรากำไรสุทธิที่ 18-20%

ในปี 60 บริษัทมีแผนตั้งสาขาใหม่ 10 สาขา ภายใต้แบรนด์ “เล็ทส์รีแล็กซ์” จำนวน 7 สาขา และ “บ้านสวนมาสสาจ” จำนวน 3 สาขา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาตั้งไปแล้ว 7 สาขา และเตรียมตั้งเพิ่มอีก 3 สาขาในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นสาขาที่อยู่ภายในโรงแรม (การบริหารสาขาในโรงแรม) จำนวน 1 สาขา คาดใช้งบลงทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท และนอกโรงแรมอีก 2 สาขา ใช้งบลงทุนไม่เกิน 40 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจ การขายผลิตภัณฑ์ Spa Products ปี 60 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังคงทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง

 

ด้านบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY การให้บริการธุรกรรมออนไลน์ (e-Business) แบ่งเป็น (1) กลุ่มบริการ e-Logistics Trading (2) กลุ่มบริการ e-Business Services : ระบบการให้บริการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence Gateway) และระบบการให้บริการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อส่งรายงานธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (สำหรับสถาบันการเงิน) (3) กลุ่ม Projects และอื่นๆ

บริษัทคาดภาพรวมการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ นำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกรรมมาสู่ระบบออนไลน์ ทดแทนการทำธุรกรรมด้วยกระบวนการแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วและขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทจึงวางแผนดำเนินงานในปี 60 ที่ต้องการผลักดันรายได้จากการให้บริการ เติบโตจากปีก่อน โดยเฉพาะการขยายฐานลูกค้าให้บริการในกลุ่ม e-Business Services ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินผ่านระบบที่บริษัทพัฒนา และกลุ่ม e-Trade Finance Supply Chain (เดิมคือกลุ่ม e-Logistics Trading) ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทำธุรกรรมการนำเข้าและส่งออกผ่านระบบที่บริษัทพัฒนา ที่คาดว่าจะมีปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากฐานลูกค้าเดิมและการขยายฐานลูกค้าใหม่ในภาคเอกชน

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อขยายการให้บริการทำธุรกรรมในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าในอนาคต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาซอฟท์แวร์ที่จะขยายการให้บริการทำธุรกรรมทางออนไลน์ในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หลังจากในปีนี้ได้เริ่มทดลองให้บริการชำระภาษีรถยนต์ทางออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ (ลีสซิ่ง) ที่ต้องการทำธุรกรรมกับกรมการขนส่งทางบก

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button