SONIC เทรดวันแรกลุ้นราคาวิ่งเกิน 2.50 บ. ขานรับพื้นฐานธุรกิจแกร่ง

ไอพีโอน้องใหม่ SONIC ลุยเทรดวันแรกลุ้นราคาวิ่งแตะ 2.50 บาท ชูพื้นฐานธุรกิจแกร่ง โดยมี บล.โกลเบล็ก เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (19 ต.ค. 61) บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มบริการ โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น ในราคา IPO ที่ 1.95 บาท

ด้านนายสันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SONIC เปิดเผยว่า บริษัทเชื่อมั่นว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันพรุ่งนี้ หลังจากที่บริษัทได้เดินทางโรดโชว์มาหลายจังหวัด ประกอบกับผลประกอบการมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลังมีการเติบโตราว 5% และในช่วงครึ่งปีแรกนี้รายได้เติบโตแล้วถึง 16%

ทั้งนี้ SONIC เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.95 บาท ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.  โดยบริษัทมีแผนระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในปี 62

อย่างไรก็ดี ด้วยจุดแข็งการดำเนินงานที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยมีการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ครอบคลุมทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบกไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย รวมถึงแผนงานในอนาคต ทำให้ SONIC มีขีดความสามารถการแข่งขันเหนือคู่แข่ง ตลอดจนการมีเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก ส่งผลดีต่อการให้บริการที่สามารถผสมผสานการให้บริการขนส่งหลายรูปแบบและมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้บริการด้านการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี

“แม้ว่าเป็นช่วงที่ตลาดฯไม่ดีนัก มีผันผวนสูง แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม และที่ผ่านมาได้เดินทางโรดโชว์นักลงทุนก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเราเป็นบริษัทที่ให้บริการขนส่ง ซึ่งอิงกับการส่งออกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ที่ปรึกษาทางการเงินเองตั้งราคา IPO ไว้ไม่สูงนัก และมีมีส่วนลดให้กับนักลงทุนด้วย” นายสันติสุข กล่าว

พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงมั่นใจว่าจะรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิที่ 5% และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 21-22% โดยการให้บริการลูกค้าเป็นแบบขึ้นลงตามต้นทุน และเป็นสัญญาระยะสั้นส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันบริษัทรับเงินเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบความผันผวนจากค่าเงิน บริษัทจึงเชื่อว่าจะรักษาระดับการทำกำไรได้

สำหรับความเสี่ยงเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐนั้น บริษัทมองว่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ เนื่องจากก่อนที่ประเทศจีนจะเปิดประเทศและสามารถส่งสินค้าไปขายในประเทศสหรัฐได้นั้นก็ได้ขนส่งสินค้าผ่านประเทศต่างๆในอาเซียน และที่ผ่านมาก็จะเห็นว่านักลงทุนจากประเทศจีนมีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศต่างๆในอาเซียนด้วย จึงมองว่าปัจจัยนี้ก็จะมาช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัทได้

ส่วนเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 20 ล้านบาท พัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า 60 ล้านบาท ซื้อที่ดินและอาคารสำหรับอาคารสาขา 60 ล้านบาท ซื้อรถขนส่งสำหรับธุรกิจขนส่งทางบก 60 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 76.19 ล้านบาท

“การลงทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการนำเสนอสินค้าและบริการที่ครบวงจรแบบ One Stop Service และผลักดันให้ SONIC สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่ผู้นำธุรกิจด้านโลจิสติกส์และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน” นายสันติสุข กล่าว

ขณะที่ นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า SONIC มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งจึงมีโอกาสเติบโตที่ดีมาก ตามการขยายตัวของภาพรวมธุรกิจส่งออกและนำเข้าของไทย จากความได้เปรียบเชิงภูมิภาคของประเทศไทยที่อยู่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิต เพื่อส่งออกสินค้าไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก

ทั้งนี้ ด้วยจุดแข็งการดำเนินงานที่เป็นผู้ให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรของ SONIC ที่มีการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ครอบคลุมทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบกไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย รวมถึงแผนงานในอนาคต ทำให้ SONIC มีขีดความสามารถการแข่งขันเหนือคู่แข่ง ตลอดจนการมีเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก ส่งผลดีต่อการให้บริการที่สามารถผสมผสานการให้บริการขนส่งหลายรูปแบบและมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้บริการด้านการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี

“ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารที่ยาวนานมากกว่า 20 ปีและแผนงานในอนาคตที่ชัดเจน ที่ SONIC ต้องการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเชิงให้บริการที่ครบวงจรเพื่อรองรับความต้องการใช้บริการด้านโลจิสติสก์ของลูกค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตที่ดีของการส่งออก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของรายได้และอัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ดีอีกด้วย” นายเอกจักร กล่าว

ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า mai ยินดีต้อนรับ บมจ. โซนิค อินเตอร์เฟรท เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ในกลุ่มบริการ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SONIC” ในวันที่ 19 ตุลาคม 2561

โดย SONIC และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง (Total Logistics Service Provider) โดยเป็นผู้บริหารจัดการเคลื่อนย้ายสินค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ผ่านช่องทางการขนส่งทางทะเล ทางอากาศ และทางบก โดยมีศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตั้งอยู่บนถนนกิ่งแก้ว จ. สมุทรปราการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินขนส่งได้อย่างครอบคลุม นอกจากนี้ บริษัทมีบริการขนส่งสินค้าทางบกข้ามชายแดน (Cross-Border Transport) ไปยังประเทศกัมพูชา

ขณะที่มีทุนจดทะเบียน 290 ล้านบาท ทุนชำระแล้ว 275 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 400 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 150 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO)

โดยแบ่งเป็นเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 128 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทและบริษัทย่อย 7 ล้านหุ้น และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย 15 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคม 2561 ในราคาหุ้นละ 1.95 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 292.50 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,072.50 ล้านบาท โดยมี บล. โกลเบล็ก เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

ขณะเดียวกันบริษัทมีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่ออกให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน (ESOP Warrant) จำนวน 30 ล้านหน่วย สามารถเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกได้เมื่อครบกำหนด 2 ปี มีระยะเวลาใช้สิทธิไม่เกิน 5 ปี ราคาการใช้สิทธิเท่ากับราคา IPO

อนึ่ง SONIC มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ กลุ่มนายสันติสุข โฆษิอาภานันท์ ถือหุ้น 62.25% กลุ่มนายรนัท เลียวเลิศสกุลชัย ถือหุ้น 4.80% และกลุ่มนางสาวเสาวลักษณ์ นิลแวว ถือหุ้น 1.71% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 1.95 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 21.67 เท่า โดยคำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (1 กรกฎาคม 2560-30 มิถุนายน 2561) ซึ่งเท่ากับ 48.96 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.09 บาท

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิภายหลังจากหักภาษี ทุนสำรองตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า SONIC ประกอบธุรกิจให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรด้วยประสบการณ์ด้านการจัดการการนำเข้าและส่งออกกว่า 22 ปี โดยมีสัดส่วนรายได้สูงสุดจากบริการขนส่งทางเรือประมาณ 63% ทางบก 29% และทางอากาศ 7% คาดกำไรสุทธิในปี 2561 จะอยู่ที่ 65 ล้านบาท เติบโต 41% จากปีก่อน และปี 2562 จะอยู่ที่ 81 ล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2561 จากการลงทุนในรถบรรทุกหัวลาก หางลาก และรถบรรทุกเพิ่มขึ้น

รวมทั้งมีการเพิ่มบุคลากรและทำการตลาดในส่วนบริการขนส่งทางอากาศมากขึ้น ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าการขนส่งในแบบอื่น โดยภาพรวมมองว่าอัตรากำไรขั้นต้นของ SONIC จะกลับมาดีขึ้นได้ในปี 2562 พร้อมประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2562 ได้ที่ 3.10 บาท ด้วยวิธี PER ที่ 21.4 เท่า (เทียบเท่า PEG ที่ 1 เท่า) ซึ่งมีการเติบโตของ EPS เฉลี่ย 3 ปีที่ 21.4%

Back to top button