ประเดิมปีหมูทอง! ลุ้น SAAM ล้างอาถรรพ์ไอพีโอต่ำจอง ฟากโบรกฯเคาะเป้า 2.25 บ.

ประเดิมปีหมูทอง! ลุ้น SAAM ล้างอาถรรพ์ไอพีโอต่ำจอง ชู 3 จุดแข็งสร้างรายได้โตต่อเนื่อง ฟากโบรกฯเคาะเป้า 2.25 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (7 ม.ค.) หลักทรัพย์บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAAM เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร เป็นวันแรก โดยมีจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนกับตลท. และหุ้นชำระแล้ว 300 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 150 ล้านบาท ทั้งนี้ SAAM ได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.80 บาท

นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAAM เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนแบ่งสัดส่วนเงินที่ได้รับจากการระดมทุนจำนวน 144 ล้านบาท ครั้งนี้ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าจำนวน 2 โครงการ จำนวน 30 ล้านบาท 2.) ใช้เป็นเงินทุนเพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งเป็นเป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 50 ล้านบาท

รวมทั้ง 3.ใช้ชำระคืนหนี้กู้ยืมของบริษัทกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งได้เบิกถอนมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา จำนวน 16 ล้านบาท และ 4. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท จำนวน 36.5 ล้านบาท

โดยบริษัทดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย รวมถึงจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวข้องภายในโครงการและลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลักประกอบด้วย 1.ธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวข้องภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยที่ดำเนินการร่วมกับลูกค้า ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 17 โครงการ บนพื้นที่ 750 ไร่ ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 41.1 เมกะวัตต์ (MW) ทั้งนี้ บริษัทจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการโครงการดังกล่าวเป็นรายเดือน โดยมีอายุสัญญาระยะยาว 20-25 ปี

รวมทั้ง 2.) ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาจนเป็นโครงการที่พร้อมก่อสร้างเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าอยู่ 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการ SAAM Oita 01 Biomass Power กำลังการพลิต 20 MW และ 2.โครงการ SAAM Oita 02 Biomass Power กำลังการผลิต 20 MW

โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย ที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาทต่อโครงการ นอกจากนี้ยังได้รับการอนุมัติสนับสนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบ FIT ที่ระดับ 24 เยนต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่ายอีกอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง 3.) ธุรกิจลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินจำนวน 1 โครงการ คือ SAAM-SP1 ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.ลพบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง/เสนอขาย 2.0 MW อายุสัญญา 25 ปี โดยมีอัตรา FIT ที่ระดับ 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลังปี 2558-2560 บริษัทมีรายได้รวมจากการขาย-บริการ และค่าเช่า ที่ระดับ 0.07 ล้านบาท, 17.12 ล้านบาท และ 16.93 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิ 4.10 ล้านบาท, 30.84 ล้านบาท และ 19.13 ล้านบาท ตามลำดับ

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมาย SAAM ปี 2562 ที่ 2.25 บาทต่อหุ้น โดยวิธี PER Multiple ที่ EPS ปี 62 ที่ 0.166 บาทต่อหุ้น และใช้ PER 13.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเฉลี่ยของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนที่ 14.4 เท่า ทั้งนี้ราคาเป้าหมายที่ 2.25 บาท คิดเป็น PER ปี 2562-2563 ที่ 13.5 เท่า และ 13.4 เท่า ตามลำดับ ซึ่งอยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยของกลุ่มพลังงานหมุนเวียน และ PBV ปี 62-63 ที่ 2.2เท่า และ 2 เท่า ตามลำดับ

ทั้งนี้คาดว่า SAAM จะมีรายได้ในปี 2562 เติบโตขึ้น 83% เป็น 134 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งมอบโครงการ SAAM Oita Biomass 01 พร้อมค่าเช่าที่ดินให้แก่ลูกค้า และคาดรายได้จากการขายไฟฟ้าการจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวข้องภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และรายได้อื่นๆ จะทรงตัวที่ 73-75 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563

โดยในปี 2563 บริษัทจะยังคงมีรายรับอีกจากการส่งมอง SAAM Oita Biomass 02 พร้อมค่าเช่าที่ดิน ซึ่งคาดรายได้ปี 2563 จะเติบโตเป็น 135 ล้านบาท ทั้งนี้การรับรู้รายได้ของการส่งมอบ 2 โครงการดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของกำไรที่ 153% และ 1.4% ในปี 2562-2563 ตามลำดับ

ส่วนงบดุลจะมีความพร้อมสำหรับการลงทุนใหม่หลังจากการ IPO คาดว่าบริษัทจะมีเงินสดในมือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 125 ล้านบาท และ 155 ล้านบาท ในปี 2562-2563 ประกอบกับมูลค่าหนี้สินต่อทุนที่น่าจะลดลงมาที่ 0.4 เท่า และ 0.3 เท่า ในปี 2562-2563 ซึ่งจะทำให้ทางบริษัทมีความสามารถเข้าลงทุนโครงการใหม่ๆ หรือเข้าไปพัฒนาโครงการเพิ่มเติมจากปัจจุบันได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการได้มาของการลงทุนใหม่ๆ จะช่วยสร้าง upside ให้แก่การประมาณการของบล.เคจีไอ (ประเทศไทย)

ขณะที่การเดินหน้าหาโครงการใหม่ เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย จำนวนรวมทั้งสิ้น 100เมกกะวัตต์ ภายในปี 2563 (ปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่เตรียมส่งมอบแน่นอนแล้วที่ 40 เมกกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นผ่านบริษัทย่อยอีก 6 บริษัท)

พร้อมทั้งเข้าร่วมลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ทางบริษัทได้พัฒนามา และการร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จะเป็น upside ให้แก่การประมาณการของงบล.เคจีไอ (ประเทศไทย)

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า ในช่วงที่ผ่านมาสภาวะตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวนส่งผลให้ราคาหุ้น IPO ส่วนใหญ่มักปรับตัวลงต่ำกว่าราคา IPO โดยในปี 2561 พบว่า CMC ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2561 นั้น ราคาหุ้นปิดตลาดวันแรกปรับตัวลงต่ำสุดถึง 21.33% ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หุ้น SAAM ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันนี้จะสามารถปรับตัวขึ้นสูงกว่าราคา IPO ที่ 1.80 บาท ได้หรือไม่

Back to top button