TEAMG บวก 3% จ่อรับรู้แบ็กล็อก 400 ลบ. ดันผลงานไตรมาส 1/62 สดใส ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 15%

TEAMG บวก 3% จ่อรับรู้แบ็กล็อก 400 ลบ. ดันผลงานไตรมาส 1/62 สดใส ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 15% โดย ณ เวลา 15.30 น. ราคาอยู่ที่ 2.14 บาท บวก 0.06 บาท หรือ 2.88% สูงสุดที่ 2.20 บาท ต่ำสุดที่ 2.10 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 7.67 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ล่าสุด ณ เวลา 15.30 น. อยู่ที่ 2.14 บาท บวก 0.06 บาท หรือ 2.88% สูงสุดที่ 2.20 บาท ต่ำสุดที่ 2.10 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 7.67 ล้านบาท

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TEAMG เปิดเผยถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/61 จากการทยอยส่งมอบงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทยอยรับรู้งานในมือในไตรมาสนี้ราว 400 ล้านบาท

สำหรับในปี 62 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้โต 10-15% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,667.67 ล้านบาท จากการัรบรู้รายได้งานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่มากกว่า 3,400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการรับรู้รายได้ประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทในปีนี้ และเตรียมเข้าประมูลงานใหม่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท ได้แก่ งานศูนย์ราชการโซน C, งานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และ งานรถไฟทางคู่หลายเส้นทาง เป็นต้น

ส่วนการเข้ารับงานในต่างประเทศ บริษัทฯ ยังคงเน้นเข้ารับงานในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ งานโรงไฟฟ้าพลังน้ำ, งานที่ปรึกษาในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น ถนนและทางด่วน รวมถึงงานนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนมูลค่า backlog ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังได้รับงานราว 70% ของมูลค่างานดังกล่าว อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีความสนใจขยายการรับงานไปยังประเทศใหม่ๆ เช่น ติมอร์ตะวันออกกลาง,ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในเร็วนี้

ขณะที่บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ประมาณ  50 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและการเข้ารับงานในอนาคต

“ปีนี้เราคาดว่ารายได้จะเติบโต 10-15% จากการที่บริษัทวางแผนเข้ารับงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมทั้งจะยังคงเน้นงานโครงการขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการได้รับงานศึกษาแนวทางการพัฒนาออกแบบเชิงหลักการในการพัฒนาเมืองการบินใหม่ ซึ่งครอบคลุมบริเวณ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง, ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการในระยะเริ่มต้นของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายกระตุ้นการเติบโตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของประเทศ” นายชวลิต กล่าว

ด้านกรณีบันทึกตั้งสำรองค่าใช้จ่ายชดเชยเพิ่มเติมพนักงาน ทำให้บริษัทฯ ต้องตั้งสำรองประมาณ 46 ล้านบาท คาดว่าจะบันทึกหลังจากพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และประเมินว่าการตั้งสำรองดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิในปี 62

 

Back to top button