7UP กระดองหาเนื้อ!

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP ปรับโครงสร้างธุรกิจมาแล้วหลายรอบ !!


สำนักข่าวรัชดา

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP ปรับโครงสร้างธุรกิจมาแล้วหลายรอบ !!

พยายามหาเรือธงใหม่ เพื่อหวังหยุดยั้งภาวะขาดทุนเรื้อรังที่กัดกร่อนบริษัทมายาวนาน…

ไล่ตั้งแต่ยุคที่ใช้ชื่อเดิมบริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK ทำธุรกิจขายโทรศัพท์

เมื่อธุรกิจขายมือถือเข้าสู่ซันเซ็ท ในปี 2558 ก็ยกเครื่องเปลี่ยนทีมผู้บริหารชุดใหม่ เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER พร้อมกับปรับโครงสร้างธุรกิจไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ธุรกิจติดตั้งกล้องตรวจจับน้ำมันรั่วอัจฉริยะ ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจเกมบนมือถือ

แต่…ธุรกิจใหม่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

กระทั่งปี 2561 เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้ง เป็นบริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP ในปัจจุบัน แล้วหาธุรกิจใหม่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายแก๊ส LPG ธุรกิจติดตั้งกล้องวงจรปิด และธุรกิจบำบัดน้ำ

ซึ่งก็ยังไม่เห็นผลมากนัก…

ช่วงต้นปี 2562 จึงหันไปทำธุรกิจกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม โดยเข้าถือหุ้น 30% ในบริษัท ยูนิเวอร์แซล เวสต์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ UMW ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานี ถือหุ้น 99.99% ในบริษัท เอเซีย รีไซเคิล เทคโนโลยี จำกัด (ART) และบริษัท เอเซีย เวสต์ แมนเน็จเม้นท์ จำกัด (AWM) ทำธุรกิจคัดแยกและกำจัดกากอุตสาหกรรมแบบไม่เป็นอันตรายโดยการฝังกลบ

จะเห็นว่า 7UP พยายามควานหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่งจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากงบไตรมาส 2/2562 ที่พลิกมีกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส

โดยพลิกมีกำไรสุทธิ 36.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.05 ล้านบาท หรือเติบโต 377.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 13.27 ล้านบาท และมีรายได้รวม 524.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122.27 ล้านบาท หรือเติบโต 30.37%

ซึ่งไม่รู้ว่าดีพอที่จะทำให้ปี 2562 นี้พลิกกลับมามีกำไรได้หรือไม่ ??

อันนี้ต้องลุ้นกันต่อไป…

ขณะที่ก้าวล่าสุดของ 7UP ทุ่มงบ 263.34 ล้านบาท ซื้อหุ้น 38% ของบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด (ซีฮอร์ส) เพื่อรุกธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในเส้นทางเดินเรือระหว่างชายฝั่งภาคตะวันออกกับภาคกลางตอนล่างและภาคใต้

เพื่อหวังเป็นเรือธงลำใหม่…

ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ 7UP จะไดเวอร์สิไฟด์ธุรกิจจากพลังงานไปสู่ธุรกิจขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

แต่ก็น่าคิด…เมื่อดูงบการเงินของซีฮอร์ส ย้อนหลัง 2 ปี จะเห็นว่า ปี 2560 มีรายได้แค่ 821 บาท ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ 447,083 บาท และขาดทุน 446,262 บาท ส่วนปี 2561 มีรายได้ 938 บาท มีรายจ่าย 3,141,153 บาท ขาดทุน 3,140,215 บาท

นั่นเท่ากับว่า ซีฮอร์ส ยังไม่มีรายได้และกำไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า 7UP จะสร้างมูลค่าเพิ่มเข้ามาได้ยังไง ? การลงทุนครั้งนี้เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง ?

คงเป็นคำถามที่ผู้ถือหุ้น 7UP อยากรู้คำตอบมากที่สุด

อ้าว…ผู้บริหาร 7UP อยู่ไหน ช่วยมาไขข้อข้องใจหน่อยยยย…

แต่ที่แน่ ๆ “กระดองเต่าหาเนื้อ (แท้)” ได้หรือยัง..!

…อิ อิ อิ…

Back to top button