ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง “พิชญ์” อินไซด์ซื้อขาย JTS สั่งปรับ 58.77 ลบ.

ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง "พิชญ์" อินไซด์ซื้อขาย JTS สั่งปรับ 58.77 ลบ.


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งราย นายพิชญ์ โพธารามิก และ นายเกริกไกร ไตรบัญญัติกุล กรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งและส่งคืนผลประโยชน์รวม 59.10 ล้านบาท

โดยก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-12 ต.ค.59 นายพิชญ์ได้ร่วมกับนายเกริกไกรซื้อหุ้น JTS  ซึ่ง บริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ถือหุ้นใน JTS  ร้อยละ 32.8 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายเกริกไกร ก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 59 ที่มีผลกำไร 21.39 ล้านบาท พลิกกลับจากที่มีผลขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ปี 57 และเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อราคาหลักทรัพย์

โดยที่ผลกำไรของ JTS ดังกล่าว เกิดจากการที่ JTS ได้รับการว่าจ้างงานจาก บริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่ง JAS ถือหุ้นใน TTTBB ผ่านบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด ร้อยละ 99 ซึ่งนายพิชญ์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และนายพิชญ์ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการของ JAS ที่ให้นโยบายในการว่าจ้างงานภายในกลุ่มด้วย นายพิชญ์จึงอยู่ในฐานะที่ล่วงรู้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อราคาหลักทรัพย์ของ JTS

การกระทำข้างต้นของนายพิชญ์และนายเกริกไกร จึงเป็นการซื้อหุ้น JTS โดยใช้ข้อมูลภายใน อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย โดยกำหนดให้

(1) นายพิชญ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงินจำนวน 32,650,173.75 บาท และชดใช้เงินในจำนวนที่เท่ากับผลประโยชน์ที่พึงได้รับเป็นเงินจำนวน 26,120,139 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 58,770,312.75 บาท

(2) นายเกริกไกร ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงินจำนวน 333,333.33 บาท

ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับและชำระเงินค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด

อนึ่ง การที่ ค.ม.พ. กำหนดให้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดจะเป็นเหตุให้เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต.ซึ่งจะมีผลให้นายพิชญ์ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทดังกล่าว เมื่อ ก.ล.ต. มีหนังสือแจ้งการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ ซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อไป

ส่วนกรณีของนายเกริกไกร ก.ล.ต. จะพิจารณาเมื่อบุคคลดังกล่าวจะเข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

Back to top button