บาทแข็งและแบงก์ชาติ

การกลับมาซื้อแรงครั้งใหม่ของฟันด์โฟลว์นับแต่วันพฤหัสที่ผ่านมาประจวบเหมาะกับบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีเทียบกับดอลลาร์อาจจะเพื่อเหตุใดต่อไปนี้


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

การกลับมาซื้อแรงครั้งใหม่ของฟันด์โฟลว์นับแต่วันพฤหัสที่ผ่านมาประจวบเหมาะกับบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีเทียบกับดอลลาร์อาจจะเพื่อเหตุใดต่อไปนี้

1) เล่นเกมค่าเงินกับแบงก์ชาติไทย 

2) ขายไปเยอะแล้วได้เวลาซื้อเสียที 

3) เล่นเก็งกำไรล่วงหน้ารอกองทุนในประเทศซื้อระลอกใหญ่ไตรมาสสุดท้ายของปี

4) ดอลลาร์จะอ่อนต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะสาเหตุใดดัชนี SET รับอานิสงส์เชิงบวกทั้งสิ้น

จะมีกลุ่มคนที่ปวดหัวเรื่องนี้คือผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยกับผู้บริหารธุรกิจส่งออกและบริษัทในกิจการท่องเที่ยวที่ต้องหาทางรับมือจ้าละหวั่น

ที่น่าสนใจคือบาทแข็งล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากค่าดอลลาร์อ่อนลงแต่เกิดจากสาเหตุอื่น

คำอธิบายที่เป็นทางการจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธปท. ระบุ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในรอบวันอยู่ 1-3 มาตรการที่คาดว่าจะ เกาถูกที่คัน โดยคาดว่ามาตรการกลุ่มแรกจะออกมาใน 1-2 เดือนข้างหน้า

มาตรการทั้งสามประกอบด้วย

1) ทำให้เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและไหลออกเกิดความสมดุลมากขึ้นเนื่องจากเห็นว่าในสภาวะที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการเงินระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจึงจะเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยทั้งรายบุคคลและนักลงทุนสถาบันไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันมีมาตรการยอมให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถพักเงินในต่างประเทศได้โดยมีรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศและไม่จำเป็นต้องโอนเงินกลับมาไว้ในประเทศ

มาตรการนี้จะรวมถึงเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาทำธุรกิจด้านเงินตราต่างประเทศและการโอนเงินข้ามประเทศมากขึ้นเพื่อช่วยลดต้นทุนการโอนเงินการทำธุรกรรมในประเทศอย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้ธปท. ไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวที่กำกับดูแลจะต้องมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

2) เรื่องของการดูแลเม็ดเงินไหลเข้าไหลออกด้านทองคำเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเงินไหลเข้าไหลออกด้านของทองคำได้เข้ามาสร้างแรงกดดันในเรื่องของค่าเงินบาทซ้ำเติมค่าเงินบาทที่สภาวะข้างนอกไม่เอื้ออำนวยโดยธปท.จะเข้าไปดูในเรื่องนี้เพื่อลดแรงกระแทกและไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างไรก็ดีไม่ใช่วิธีการจำกัดหรือควบคุมการซื้อขายทองคำ

3) การเข้าไปดูประเด็นเชิงโครงสร้างด้านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดโดยการออกมาตรการลดการเกินดุลบัญชีสะพัดซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานอาทิภาครัฐที่มีหลายโครงการขนาดใหญ่หากเดินตามแผนที่วางไว้ได้เร็วก็จะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นรวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเช่น 5G สมาร์ตซิตี้เป็นต้น

มาตรการรูปธรรมที่ธปท.เตรียมออกมาประกอบด้วย 1) การดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้า-ออก (คนไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้เสรีมากขึ้น, ผู้ส่งออกไม่ต้องรีบนำเงินตราต่างประเทศกลับในทันที) 2) ดูแลการแลกเปลี่ยนเงินสำหรับการส่งออกทองคำ 3) จำกัดระดับดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้เกินดุลมากเกินไปเช่นผลักดันให้เกิดการนำเข้าสินค้าทุนให้มากขึ้น

ฟังแล้วอย่างเพิ่งงงกันเพราะภาษาของธปท.นั้นต้องการเวลาตีความพอสมควร

ที่ผ่านมาการที่บาทแข็งเพราะค่าดอลลาร์อ่อนเป็นเรื่องคุ้นเคยค่าดอลลาร์ที่อ่อนยวบสะท้อนถึงการไหลของฟันด์โฟลว์ที่ย้ายไปหาที่หลบภัยในเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและธนาคารกลางมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูงซึ่งกินความรวมถึงตลาดทุนไทยด้วย

กรณีเช่นนั้นส่งผลให้ตลาดเก็งกำไรกลับมาคึกคักส่งผลต่อตลาดหุ้นและตลาดทุนไทยเชิงบวกเพราะบรรดาทุนเก็งกำไรต่างชาติต่างรู้ทัน จุดอ่อน อำนาจรัฐไทยได้ดีว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายการเงินที่อยู่ในกำมือเทคโนแครตอย่างผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธปท.ก็มีขีดจำกัดในการแทรกแซงค่าบาทเสมือนถูกผูกมัดมือชกทำให้บรรดาผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติหรือฟันด์โฟลว์สบช่องพากันเร่งซื้อเงินบาทเพื่อนำมาถือหลักทรัพย์ที่กล่าวมาจนล่าสุดค่าบาทแข็งสุดในรอบ 2 เดือนและล่าสุดต่ำกว่า 31.30 บาทต่อดอลลาร์ด้วย

การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ทำให้กองทุนและนักลงทุนสถาบันในประเทศฉกฉวยโอกาสร่วมเข้าซื้อดันราคาหุ้นและดัชนี SET จนสามารถทะลุทะลวงข้ามเส้นเทคนิคสำคัญไม่ยากเย็นนัก แต่กรณีบาทแข็งล่าสุดเกิดขึ้นในยามที่ข่าวเชิงลบท่วมตลาดนับแต่ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้มาที่2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 3.5%

เหตุผลหลักเนื่องมาจากหลายปัจจัยที่สำคัญเช่นการส่งออกที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่สูงกว่าคาดการณ์, ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ, อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำและมีผลเหนี่ยวรั้งตัวเลขการลงทุนภาครัฐ

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือน ส.ค. 2562 น่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

นอกจากนี้ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 โดยคาดว่าเติบโตได้ 2.9% จากเดิมคาด3.6% ก่อนจะขยายตัวเป็น 3.0% ในปีถัดไป

ไม่เพียงแค่นั้นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2562 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดผลสำรวจลดลงอย่างมากโดยอยู่ที่ระดับ 59.3 จาก 60.9 ในเดือน ส.ค. 2562 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ระดับ 68.5 จาก 69.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ88.9 จาก 90.4 ไม่ใช่ข่าวดีแน่นอน

มาตรการของธปทจะแก้ปัญหาบาทแข็งแค่ไหนคงต้องอดทนรอคอยผลลัพธ์

Back to top button