BWG พุ่งกระฉูด7% คาดเก็งกำไรทางเทคนิค-แผนธุรกิจเด่นกำไร Q4 สดใส-แนะสอยเป้า 0.71 บ.

BWG พุ่งกระฉูด7% คาดเก็งกำไรทางเทคนิค-แผนธุรกิจเด่นกำไร Q4 สดใส-แนะสอยเป้า 0.71 บ.


ผู้สื่อข่ารายงานว่า บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG  ณ เวลา 15.55 น อยู่ที่ระดับ 0.55 บาท บวก 0.03 บาท หรือ 5.77%  ด้วยมูลค่าซื้อขาย 10.01 ล้านบาท ราคาหุ้นบวกหลังเป็นขาลงมานานบวกกับปัจจัยบวกแผนธุรกิจเด่นปีหน้าทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรหนาแน่น

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองว่าไตรมาส 4/62 บริษัทจะมีผลกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นแม้ยังต่ำกว่าปี 2561 และเชื่อว่ารายได้และกำไรปี 2563 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าจำนวน 20.9 เมกะวัตต์

แม้มีมุมมองว่า 1. ผลประกอบการของ BWG จะสามารถปรับตัวดีขึ้นในปี 2563 ประเมินว่ารายได้ในปี 2563-2565 จะเติบโตที่ 15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน,7.8%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน,และ 2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ และกำไรจะเติบโตที่ 65% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน,24% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, และ 4.2%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

2.มิติของ P/BV ปัจจุบันของ BWGอยู่ที่ระดับ 0.6x ซึ่งลงมาต่ำกว่าจุดต่ำสุดในอดีต ที่ 0.94x ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่เชื่อว่ายังควรรอจังหวะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตที่จำเป็นต้องมีสัญญาณที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ประเมินราคาเป้าหมายปี 63 เท่าหับ 0.71 บาทอิงวิธี DCF ใช้สมมติฐาน WACC ที่ 10 %, Risk-free rate 2.2% จาก FCFF ที่ประมาณการจากรายได้การให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมและรายได้จากโรงไฟฟ้า มองว่า BWG เป็นหุ้น Value Play ที่ต้องรอการกลับตัวทางเศรษฐกิจจึงจะเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อและราคาตลาดในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทอยู่ในกรอบ 3-5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2561-2580 (AEDP 2018) ให้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) โดยเฉพาะแผนเร่งรัดดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนตามโควตาเดิมอีก 400 เมกะวัตต์ ให้เข้าสู่ระบบเร็วขึ้น เป็นภายใน 3 ปี (ปี 2563-2565)

โดยแนวทางดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาขยะ ที่เป็นปัญหาหลักของประเทศ สำหรับราคารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้น คณะทำงานอยู่ระหว่างการศึกษาอัตราที่เหมาะสม ซึ่งได้ให้หลักการว่าจะต้องอิงจากฐานข้อมูลเดิมที่มีการกำหนดไว้ทั้งส่วนของรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) ซึ่งหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาในการกำจัด

อย่างไรก็ตาม แผนรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนจะต้องประสานกับหลายหน่วยงาน อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวงมหาดไทยที่เป็นเจ้าภาพหลัก รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ตามแผน PDP2018 โรงไฟฟ้าขยะชุมชนจะต้องเข้าระบบอีก 400 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ดังนั้นหากจะเข้าระบบได้ทันจำเป็นต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2562-2563 นี้ ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องให้กระทรวงมหาดไทยคัดเลือกรายชื่อผู้ประกอบการให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการพิจารณาและประกาศรายชื่อต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับซื้อครั้งเดียว 400 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff-FiT) สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดรับซื้อใหม่อาจจะเป็นอัตราเดิม

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การเร่งรัดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ส่งผลให้หุ้นพลังงานที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวสนใจเข้าร่วมโครงการ โดยยังมองบริษัทขนาดเล็ก-กลาง มากกว่ารายใหญ่ เนื่องจากจะได้รับประโยชน์ต่อกำลังการผลิตและกำไรภายหลังจากคว้าโครงการในครั้งนี้ อาทิ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL และบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP

นอกจากนี้ เชื่อว่าจะมีเอกชนหลายรายที่มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว รวมถึงบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ที่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในไตรมาส 4/2562

Back to top button