ส่อง 3 หุ้นสื่อสารรับผลดี-เสียก่อนลงสนามประมูลคลื่น 5G ชู ADVANC เด่นสุดเป้า 270 บ.

ส่อง 3 หุ้นสื่อสารรับผลดี-เสียก่อนลงสนามประมูลคลื่น 5G ชู ADVANC เด่นสุดเป้า 270 บ.


ผู้สื่อข่าวรายว่า จากกรณีที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบนำคลื่นความถี่ 5G ทั้งสิ้น 4 ย่าน คือ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz มาประมูลตามแผนเดิมส่งผลให้โบรกฯนำของไทยออกมาประเมินและให้ความเห็นในการเข้าลงทุนหุ้นสื่อสาร 3 ค่ายใหญ่ที่คาดว่าเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 16ก.พ.63 อาทิ ADVANC,TRUE และ DTAC  โดยนักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นดังนี้

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบนำการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G ทั้งสิ้น 4 ย่าน คือ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ผิดไปจากกระแสข่าวก่อนหน้าที่คณะอนุกรรมการโทรคมนาคมเสนอให้ตัดคลื่น 700 MHz โดยรวมสร้างความกังวลต่อกลุ่มสื่อสาร ในเรื่องการเปิดประมูลคลื่นสั้น 700 MHz เพราะกังวลมีโอกาสนำมาสู่การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรายที่ 4 ง่ายขึ้น เนื่องจากจุดเด่นคลื่นดังกล่าวในด้านความครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยไม่กังวลต่อการเกิดขึ้นของรายที่ 4 อยู่แล้ว และเชื่อว่าราคาหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากเกินไป เพราะผู้ที่มีท่าทีสนใจประมูลคลื่น 700 MHz คือ CAT ซึ่งแม้ฐานะการเงิน CAT รองรับได้ แต่ยังขาดความพร้อมฐานลูกค้า และแนวโน้มที่จะยังไม่สามารถใช้คลื่นได้ทันที หลังประมูล เช่น คลื่นอื่นๆ จากปัญหาคลื่นไมโครโฟนรบกวน ที่ต้องใช้เวลาจัดการอีกกว่า 1 ปี ท้ายที่สุด เชื่อว่า CAT น่าจะใช้บริการตามแนวทางรัฐฯกำหนดให้ร่วมประมูลเพื่อรองรับบริการสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งไม่น่าแข่งขันกับเอกชนโดยตรง

นอกจากนี้ กสทช. ได้มีการปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ในเรื่องการเพิ่มเงินประกันการประมูลเพิ่มจากเดิมเป็นราว 30% ของราคาตั้งต้น จากเดิม 10% ซึ่งน่าจะช่วยคัดกรองผู้ที่สนใจประมูลเพื่อทำธุรกิจจริง ลดความเสี่ยงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นตอนประมูลคลื่น 4G

ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างประมูลดังกล่าว ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองคาดว่าเอกชน 3 รายจะให้ความสำคัญกับคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz เนื่องจากราคาที่ถูก, เป็นคลื่นที่ยังไม่มี และใช้งาน 5G ได้ ซึ่งด้วยปริมาณคลื่นที่มีเพียงพอให้ทุกราย (2600 MHz 19 ใบอนุญาต, 26 GHz 27 ใบอนุญาต) ประกอบกับ รัฐวิสาหกิจน่าจะไปให้ความสนใจกับคลื่น 700 MHz จึงเชื่อว่าราคาประมูลคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz จะออกมาใกล้เคียงราคาตั้งต้น ซึ่งหากกำหนดแต่ละรายได้คลื่นรายละเท่าๆกัน

ยังคงประเมินต้นทุนคลื่น 5G ที่จะประมูลจะสร้างภาระเฉลี่ย ที่ยังไม่รวมในประมาณการ ไม่เกินปีละ 1.0 พันล้านบาทต่อราย แม้จะต่ำลงกว่าคลื่น 4G ที่มีต้นทุนสูงกว่ามาก แต่ด้วยฐานกำไรแต่ละรายที่แตกต่างกัน Downside ต่อประมาณการจึงจำกัดต่อ ADVANC ผู้ที่มีฐานกำไรปกติสูง (3.2 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น

ส่วน DTAC และ TRUE ที่มีฐานเล็กกว่าจะกระทบสูง หากพิจารณาจากฐานกำไรปกติ DTAC ที่ 6.3 พันล้านบาท และขาดทุนปกติ TRUE ที่ 1.3 พันล้านบาท   ภาพรวม Downside ต้นทุนที่อาจบั่นทอนการเติบโตกำไรปี 2563 ลงมาใกล้ตลาด จึงยังให้ลงทุน เท่าตลาด ขณะที่ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาวานนี้ จึงประเมินเป็นโอกาสลงทุน หุ้นแข็งแกร่งที่เชื่อว่ายังรักษาฐานกำไรได้ เลือก  ADVANC(FV@B270) เท่านั้น

 

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในวิเคราะห์ว่า กสทช. จัดให้มีการประมูลคลื่น 5G ในวันที่ 16 ก.พ.63  โดยได้จัดการประมูลคลื่นแบบ Multi Band ทั้งหมด 4 ย่านความถี่ ประกอบด้วย 700MHz 1800MHz 2600MHz และ 26GHz ทั้งนี้กสทช.คาดว่าโอเปอร์เรเตอร์จะสามารถเปิดให้บริการ 5G ในพื้นที่ EEC ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 (ข่าวหุ้นธุรกิจ)

ความเห็น: มองว่าการที่ กสทช. ได้นำคลื่น 700MHz กลับมาประมูลอีกครั้งหลัง CAT ได้ทำหนังสือแจ้งความต้องการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เป็นปัจจัยกดดันต่อกลุ่ม ICT เนื่องจากเกิดความกังวลว่าจะเกิดผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาในการประมูลคลื่นที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งการแข่งขันในการให้บริการในอนาคต

อย่างไรก็ตามเชื่อมีโอกาสน้อยมากที่ผู้เล่นรายใหม่(รัฐวิสาหกิจ)จะเข้ามาแข่งขันในเชิงพาณิชย์ แนะนำ ADVANC (AWS TP 250.00 บาท) เนื่องจากเป็นผู้นำในกลุ่ม ICT รวมทั้งมีศักยภาพในการพัฒนาระบบ 5G ให้เป็น New S-Curve 

ด้านราคาหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ณ เวลา 11.42 น. อยู่ที่ระดับ 251.00 บาท  ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยมูลค่าซื้อขาย 269 ล้านบาท และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ณ เวลา 11.51 น. อยู่ที่ระดับ 4.66 บาท  บวก 0.02 บาท หรือ 0.43% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 78.95 ล้านบาท ส่วนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ณ เวลา 11.53 น. อยู่ที่ 53.75 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.46% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 93.65 ล้านบาท

Back to top button