NER ปักหมุดรายได้ปี 63 โตเกิน 50% รับออร์เดอร์เพิ่ม-กำลังผลิตเพิ่ม-ออกสินค้าใหม่

NER ปักหมุดรายได้ปี 63 โตเกิน 50% รับออร์เดอร์เพิ่ม-กำลังผลิตเพิ่ม-ออกสินค้าใหม่


นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 เติบโตไม่ต่ำกว่า 50% โดยเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อของลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่เข้ามามากขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 2/63 บริษัทจะเปิดดำเนินการโรงงานแห่งใหม่ที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 170,000 ตัน/ปี ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมเป็น 460,000 ตัน/ปี จากเดิมที่ที่มีกำลังการผลิต 290,000 ตัน/ปี ซึ้งในปีนี้บริษัทคาดจะมียอดขายที่ 400,000 ตัน จากการใช้กำลังการผลิตโรงงานเดิม 100% และโรงงานใหม่ 75%

สำหรับสัดส่วนของยอดขายในปี 63 จะมีการปรับเป็นต่างประเทศ 35% และในประเทศ 65% จากเดิมที่ปี 62 ยอดขายต่างประเทศ และในประเทศจะอยู่ที่ 40:60 เนื่องจากผลจากสงครามการค้าที่ทำให้ฐานการผลิตจากประเทศจีนย้ายมาตั้งโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ด้านความคืบหน้าของลูกค้ารายใหม่ คือ มิชลิน ซึ่งเป็นผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ของโลก ขณะนี้ขั้นตอนได้ผ่านการเข้าตรวจสอบโรงงานของบริษัทเรียบร้อยแล้ว และต่อไปจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ การตรวจสอบตัวอย่างสินค้า จากนั้นจะเป็นการสั่งสินค้าตามสัญญาการซื้อขายอย่างเป็นทางการต่อไป ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าอยู่ 40 กว่าราย เป็นลูกค้า Long Team ที่มีการซื้ออย่างต่อเนื่องจำนวน 25 ราย

ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/63 ทิศทางอัตรากำไรสุทธิของบริษัทมีโอกาสปรับขึ้นไปถึงตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากราคายางมีการปรับตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไปแล้ว โดยมองว่าราคาเฉลี่ยจะสูงถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่ประเมินว่าจะอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นผลมาจาก Sentiment การค้าที่ดีขึ้นหลังจากมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและประเทศจีน รวมไปถึงประเทศจีนยังได้ถูกปลดจากการเป็นผู้แทรกแซงค่าเงินด้วย และปัญหาโรคระบาดยางในอินโดฯ แต่อย่างไรก็ตามอัตรากำไรสุทธิที่สูงนั้นจะอยู่แค่ในช่วงของการที่ราคายางมีการปรับตัวขึ้นเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะกลับสู่ภาวะปกติ” นายชูวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ในกลางปี 63 บริษัทมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่เป็นแผ่นปูนอน แผ่นรองพื้นในคอกของปศุสัตว์ โดยมีการพัฒนาสูตรร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) โดยการนำยาง STR ที่ทางบริษัทมีส่งไปให้โรงงานอื่นผลิตตามสูตรที่ทาง มอ. กำหนดไว้ เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้างโรงงานและการจ้างแรงงาน และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ ทางบริษัทจะสามารถนำส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทดลองใช้เพื่อนำมาปรับขนาดและสภาพการใช้งาน ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะสามารถส่งออกยางไปที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สำหรับยอดขายสินค้าสำเร็จรูปแผ่นปูนอนสัตว์ รวมถึงล่าสุด ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคตอีกด้วย

โดยสินค้าใหม่จะให้อัตรากำไรขึ้นต้นสูงถึง 25% เมื่อเทียบกับธุรกิจยางพาราที่ให้อัตรากำไรขั้นต้นเพียง 5% ดังนั้น บริษัทคาดว่าจะช่วยผลักดันให้ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 63 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากสิ้นค้าใหม่ไว้ที่ 200 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาทในปี 65  โดยจะเน้นการบุกตลาดไปยังประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ โดยในปี 64 บริษัทเตรียมใช้งบลงทุนราว 300-400 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงาน จากที่ช่วงแรกจะเป็นการจ้างผลิตก่อน

จริง ๆ แล้วเรากำลังการผลิตยางของเราจะเต็มในปี 64 แต่อย่างไรก็ตามเราจะมีการพิจารณาอย่างดีอีกครั้งว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่ เพราะเราจะมาเน้นการทำผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมากขึ้น เพื่อที่จะให้ได้อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น”นายชูวิทย์ กล่าว

สำหรับโครงการไบโอแก๊สนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้มีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากชีวภาพ โดยบริษัทจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะบริษัทได้เล็งเห็นถึงการต่อยอดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต โดยบริษัทจะเสนอโครงการในกลุ่ม (Quick Win) คือกลุ่มแรกที่จะได้ขายไฟฟ้าก่อน ซึ่งจะต้องขายไฟภายในปี 63 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทปีละ 400 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สที่มีอยู่แล้ว 2 โครงการ กำลังการผลิตรวมราว 4.3 เมกะวัตต์ (MW)

ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 40 เมกะวัตต์ภายใน 2 ปี โดยปัจจุบันได้เจรจากับชุมชนรวม 8 ชุมชน เพื่อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามโครงการทั่วไป ซึ่งเบื้องต้นคาดจะมีกำลังการผลิตราว 4 เมกะวัตต์/ชุมชน ซึ่งจะใช้งบลงทุนราว 110 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสในการขยายไปสู่โรงไฟฟ้าอื่น ๆ ได้ในอนาคตซึ่งจะสร้างรายได้เข้ามาเพิ่มให้กับบริษัทได้อีก นอกจากนี้บริษัทยังสามารถนำความร้อนจากการปั่นไฟฟ้า มาใช้ในกระบวนการอบยาง ซึ่งสามารถลดต้นทุนการใช้แก๊ส ได้ถึงวันละ 70,000 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 150,000 บาท

ส่วนผลประกอบการในปี 62 คาดว่ารายได้รวมโตที่ 30% ตามเป้าจากปี 61 ที่มีรายได้รวม 10,084.01 ล้านบาทเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาโรงงานผลิตเดิมได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นไปตามแผน อีกทั้งยังมีคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ในประเทศเพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันกำลังการผลิตของบริษัทเต็ม 100 % แล้ว นอกจากนี้บริษัทยังคาดว่าจะสามารถรักษาอัตรากำไรได้ดีจากการป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผันผวนด้วยวิธี matching order โดยเมื่อมีคำสั่งซื้อจะสต็อกยางไว้ส่งมอบด้วยราคาที่ตกลงกันในเวลานั้น ไม่ได้เป็นการรับคำสั่งซื้อมาก่อนแล้วค่อยหาสินค้ามาส่งมอบภายหลังซึ่งราคาอาจจะไม่เท่าเดิม

Back to top button