BANPU หนีถ่านพึ่งไฟ

ราคาหุ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ในปีที่ผ่านมาดูไม่จืดเช่นไร ปีนี้ก็ดูไม่จืดเช่นเดิม แค่รอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ก็รูดไปแล้ว 8.11%


สำนักข่าวรัชดา

ราคาหุ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ในปีที่ผ่านมาดูไม่จืดเช่นไร ปีนี้ก็ดูไม่จืดเช่นเดิม แค่รอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ก็รูดไปแล้ว 8.11%

สาเหตุหลักมาจากนักลงทุนกังวลเรื่องรายได้และกำไรในอนาคต ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ…

เนื่องจากธุรกิจถ่านหินซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ดูเหมือนจะซันเซตไปแล้ว จากปัญหาโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนก ทำให้กลุ่มที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ลดปริมาณการใช้ลงอย่างต่อเนื่อง

จากความกังวลดังกล่าว สะท้อนผ่านราคาหุ้นในช่วงปีที่แล้วมาถึงปีนี้ แม้บางช่วงราคาจะฟื้นขึ้นมาบ้าง แต่เป็นช่วงสั้น ๆ สุดท้ายราคาก็ทรุดลงไปอีก

ที่จริงที่ผ่านมา BANPU ก็พยายามแสวงหาธุรกิจใหม่มาทดแทนธุรกิจถ่านหินที่ใกล้มอดไหม้ไปทุกที…

ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า โดยส่งบริษัทลูก บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด (BPIN) ไปถือหุ้น 21.50% ใน FOMM ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

การจับมือกับบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเทียมไอออน (LiB) สำหรับรถยนต์และระบบไฟฟ้าสำรอง ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมาตรฐานโลก ในเมืองซูโจว (Suzhou) สาธารณรัฐประชาชนจีน

รวมทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ลงทุนผ่านบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งได้ Spin-Off ออกมา เพื่อหวังเป็นเรือธงที่จะมาชดเชยรายได้จากธุรกิจถ่านหินในอนาคต

ล่าสุดก็ส่ง BPP เข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) และธุรกิจ Energy Trading ในประเทศญี่ปุ่น ผ่านบริษัทลูก บริษัท Banpu Renewable Singapore Pte. Ltd. เพื่อเข้าถือหุ้น 19.9% ในบริษัท Global Engineering Co., Ltd. (Global) ผู้นำธุรกิจไฟฟ้าแบบค้าปลีก ในเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่า 1,143 ล้านเยน หรือราว 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

โรงไฟฟ้าเสมือน อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่กำลังได้รับความสนใจในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการจัดการแหล่งพลังงานที่มีอยู่กระจัดกระจายให้รวมเข้ามาเป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยี IoT กับ AI ในการรวบรวมผลิตผล รวมถึงควบคุมการเชื่อมต่อกับระบบ

ขณะที่ Global ให้บริการกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,000 ราย และมุ่งเน้นพัฒนาโรงไฟฟ้าเสมือนในประเทศญี่ปุ่น จึงถือเป็นก้าวสำคัญของ BPP ในการขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าเสมือน และธุรกิจ Energy Trading ในการจัดจำหน่ายไฟฟ้าผ่านโครงข่ายระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รองรับการใช้ไฟฟ้าในอนาคต…

นั่นเท่ากับว่า การลงทุนครั้งนี้ จะทำให้พอร์ตธุรกิจโรงไฟฟ้าของ BANPU ใหญ่ขึ้น..! ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะสร้างเม็ดเงินกลับมาก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

จึงน่าจับตาว่า กลยุทธ์ “หนีถ่าน(หิน) ไปพึ่งไฟ(ฟ้า)” ครั้งนี้…จะซัคเซสแค่ไหน..?

ก็หวังว่าไฟฟ้าดวงนี้ จะช่วยกู้วิกฤติศรัทธานักลงทุน..ทำให้หุ้น BANPU กลับมาวิ่งแรลลี่ได้อีกครั้ง

…อิ อิ อิ…

Back to top button