Artificial General Intelligence (AGI)

ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าการลงทุนและทิศทางของเทคโนโลยีจะนำพาเราไปถึงยุค AGI ได้จริงหรือไม่ และระบบกฎหมายจะเตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์นั้นอย่างไร


Cap & Corp Forum

ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่บางส่วนก็ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้การทำงานของมนุษย์มีประสิทธิภาพและมีความสะดวกมากขึ้น Joseph Aoun อธิการบดีของมหาวิทยาลัยนอร์ทอิสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงานหนังสือขายดีเรื่อง Robot-Proof: Higher Education in the Age of Artificial Intelligence (2017) ได้เรียกร้องและเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาปรับปรุงการเรียนการสอนและหลักสูตรเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยและการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มีความจำเป็น มีทักษะทางสังคม และมีสมรรถนะทางวิชาชีพที่เหมาะสม เพื่อที่จะไม่ถูกเทคโนโลยีแทนที่ในอนาคตอันใกล้นี้

ในขณะที่รายงานด้านสถานการณ์แรงงานโดย OECD Employment Outlook 2019 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าปัญญาประดิษฐ์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อตลาดแรงงานและระบบการศึกษา อนาคตด้านแรงงานของแต่ละประเทศจึงขึ้นอยู่กับนโยบายที่รัฐกำหนดในวันนี้ นอกจากนี้รายงานการศึกษาของสหภาพยุโรปในปี 2019 ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญญาประดิษฐ์จะก่อให้เกิดการปรับตัวของตลาดแรงงานและระบบการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ

ปี 2019 ที่ผ่านมาบริษัทด้านเทคโนโลยีจำนวนมากได้ลงทุนอย่างมหาศาลในส่วนของการวิจัยและพัฒนาซึ่งอาจยังไม่สามารถเห็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระเวลาอันใกล้นี้เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ไปสู่เป้าหมายของ artificial general Intelligence  หรือ AGI ที่มีความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ที่เหมือนมนุษย์หรือดีกว่ามนุษย์ อาทิ OpenAI ซึ่ง Microsoft มีแผนการลงทุนในบริษัทย่อยดังกล่าวถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ Google Brain หรือ Google DeepMind หรือโครงการลงทุนของ Cisco หรือแม้แต่ Samsung เป็นต้น

โดยรายงานล่าสุดจากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์จำนวน 373 คน ในปี 2019 มีความเห็นว่า AGI จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2060 ในขณะที่บางส่วนก็เชื่อว่าอาจจะเกิดขึ้นได้จริงในปี 2030 หรือ 2040 เป็นต้น และถึงแม้ว่านักวิจัยและเจ้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันต่อการมาถึงของยุค AGI ว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างเชื่อมั่นว่าวันนั้นจะมาถึงอย่างแน่นอน และการลงทุนด้วยจำนวนเงินมหาศาลของ Microsoft ใน OpenAI จะทำให้ technological singularity เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

เอกภาวะทางเทคโนโลยีหรือภาวะเอกฐานทางเทคโนโลยี (technological singularity) คือสมมุติภาพในอนาคตที่อัตราความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้าใกล้อนันต์ (ไม่มีข้อจำกัด) และอย่างรวดเร็วจนกระทั่งมากเกินกว่าศักยภาพของมนุษย์ที่จะไปเกี่ยวข้องหรือเข้าใจถึงกระบวนการดังกล่าวได้ และคนจำนวนมากก็เชื่อว่าการมาถึงของเอกภาวะทางเทคโนโลยีคือการสิ้นสุดของมนุษยชาติหรือเป็นภัยต่อมนุษย์

เพราะเมื่อปัญญาประดิษฐ์สามารถทำทุกอย่างได้ดีกว่ามนุษย์และถึงจุดที่สามารถวิวัฒน์และพัฒนาตนเองได้ ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มนุษย์หรือมีมนุษย์อีกต่อไป อย่างไรก็ตามถ้าไปอ่านดูเป้าหมายองค์กรของ OpenAI จะพบว่าแม้บริษัทจะกำหนดเป้าหมายเพื่อการสร้าง AGI ที่เหนือกว่ามนุษย์ในทุก ๆ  ด้าน แต่ก็เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น (benefits all humanity)

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องของ AGI  ซึ่งยังคงเป็นเพียงทฤษฎีที่คาดหวังจะเป็นจริงในอนาคต ปัจจุบันผู้บริโภคและภาคธุรกิจทั่วไปเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์จาก narrow AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถจำกัดเฉพาะอย่างเท่านั้น อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ (AI ที่ทำได้เพียงการขับรถยนต์) เทคโนโลยีจดจำใบหน้า voice assistant อย่าง Google Assistant, Siri, Alexa หรือ chatbot เป็นต้น แต่ลำพัง narrow AI ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากได้แล้ว อาทิ chatbot ซึ่งเป็นโปรแกรมอย่างหนึ่งที่ถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการตอบข้อความ ตอบคำถาม ให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือและอื่น ๆ ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในเว็บไซต์ด้านอีคอมเมิร์ซโดยช่วยลดต้นทุนการจ้างพนักงานเพื่อการดูแลลูกค้าลงอย่างมาก

ทำให้พนักงานสามารถใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการดูแลลูกค้าสำหรับปัญหาที่มีความยุ่งยาก และเจ้า chatbot ก็มีแนวโน้มฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งผู้บริโภคอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังคุยอยู่กับเครื่องจักร เป็นต้น โดย McKinsey Global Institute คาดการณ์ว่าการประยุกต์ใช้งาน narrow AI จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 นี้

เทคโนโลยีก็เสมือนเหรียญสองด้าน ยิ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่อาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อทุก ๆ สิ่งที่มนุษย์เคยเห็นและเคยเชื่อ จึงอาจมีโอกาสสร้างคุณอนันต์และโทษมหันต์ต่อมนุษย์ได้ นักวิจัยจำนวนมากจึงให้ความสนใจและเห็นควรกำหนดกรอบการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อให้สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ไปในทิศทางที่ไม่ส่งผลเสียต่อมนุษย์ โดยแนวคิดที่สำคัญ ได้แก่ Explainable AI (XAI) และ Human-centric AI

กล่าวคือการทำงานของ AI ต้องสามารถอธิบายให้มนุษย์เข้าใจได้และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้โดยต้องไม่เหมือนกล่องดำที่มนุษย์ไม่รู้ไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และต้องมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเพื่อมิให้ AI เป็นปฏิปักษ์กับมนุษย์

ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าการลงทุนและทิศทางของเทคโนโลยีจะนำพาเราไปถึงยุค AGI ได้จริงหรือไม่ และระบบกฎหมายจะเตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์นั้นอย่างไร

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button