เปิดข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 1 “ห้ามปชช.เข้าพื้นที่เสี่ยง-ชุมนุม-กักตุนสินค้า”!

เปิดข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 1 “ห้ามปชช.เข้าพื้นที่เสี่ยง-ชุมนุม-กักตุนสินค้า”!


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามข้อกำหนดหลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น

โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการ ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและเงื่อนเวลา ดังต่อไปนี้

1.ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ประกาศไว้

2.ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการทุกจังหวัดออกคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 อาทิ สนามมวย สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สถานบันเทิง อาบอบนวด สปา ฟิตเนส ส่วนสถานที่ท่องเที่ยว สถานีขนส่ง ตลาด ห้างสรรพสินค้าให้พิจารณาตามความจำเป็น

3.ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักรทุกช่องทาง ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี/หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะที่มีความจำเป็นเข้ามาตามภารกิจ คณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลที่มีหนังสือรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำงาน คนไทยในต่างแดนซึ่งต้องมีใบรับรองแพทย์

4.ห้ามกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม สินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

5.ห้ามชุมนุม ห้ามทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ในสถานที่แออัด หรือกิจกรรมยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

6. ห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ โควิด-19 ที่ไม่เป็นความจริง บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร

7.มาตรการเตรียมรับสถานการณ์ โดยให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง เผยแพร่มาตรการช่วยเหลือหรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการของรัฐต่อประชาชน ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล จัดหายา เวชภัณฑ์ บุคลากร รวมถึงสถานที่กักกัน ให้เพียงพอ รองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนประชาชนให้กักกันตัวเอง สังเกตอาการ

8.มาตรการพึงปฏิบัติ ให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ง่าย ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่แต่ในที่พัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

9.มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้มงวดในการตรวจลงตราหรือออกวีซ่าให้ชาวต่างชาติ

10.มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ในกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม และการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และหากพบเห็นให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ส่วนต่างจังหวัด ให้ตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัดดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด เพื่อเฝ้าระวังหรือสังเกตอาการและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคของผู้เดินทาง

11.มาตรการป้องกันโรค โดยให้หมั่นความสะอาด กำจัดขยะ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย หลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

12.สถานที่สำคัญยังเปิดให้บริการตามปกติ ได้แก่ โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารที่ไม่ใช่สถานบันเทิง แผงจำหน่ายอาหาร ร้านสะดวก ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า (แผนกซูปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต) โรงงาน ธนาคาร ตลาด (ส่วนที่จำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็น)

13.การเดินทางต่างจังหวัด ไม่ห้าม แต่ให้ชะลอ หากไม่มีความจำเป็น

14. การจัดกิจกรรมหรือพิธีการตามประเพณี ศาสนา ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนด

15.ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1-6 แห่งข้อกำหนดนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2548 หรือมาตรา 41 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี

16.ข้อกำหนดนี้บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดมาตรการ/เงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเผยแพรให้ประชาชนทราบ

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

 

 

 

 

 

 

 

Back to top button