หุ้นลีสซิ่งทะยานยกแผง! รับมาตรการพักชำระหนี้กด NPL ต่ำช่วยประคองช่วงสั้น

หุ้นลีสซิ่งทะยานยกแผง! รับมาตรการพักชำระหนี้กด NPL ต่ำช่วยประคองช่วงสั้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง และกลุ่มบริษัทประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อย ปรับตัวขึ้นแรงในวันนี้ โดย บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ปิดตลาดที่ระดับ 41.25  บาท ปรับตัวขึ้น  4.75  บาท หรือ 13.01% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 469.45 ล้านบาท

ด้านบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ปิดตลาดที่ระดับ 12.30 บาท ปรับตัวขึ้น 0.70 บาท หรือ 6.03% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 218.58  ล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ปิดตลาดที่ระดับ 100  บาท ปรับตัวขึ้น  9 บาท หรือ 9.89% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 71.17 ล้านบาท

อีกทั้ง หุ้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ปิดตลาดที่ระดับ 25.50 บาท ปรับตัวขึ้น 1.70 บาท หรือ 7.14% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 807.48 ล้านบาท

และบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ปิดตลาดที่ระดับ 35 บาท ปรับตัวขึ้น 3.50 บาท หรือ  11.11% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 387.78 ล้านบาท

โดยราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวขึ้นแรงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยมีการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้คาดการณ์ว่าจะเกิดหนี้เสียขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันหุ้นในกลุ่มสินเชื่อที่จะต้องมีการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นตาม

ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะส่งผลให้ NPL ในช่วง 3-6 เดือนที่มีการพักชำระหนี้ไม่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นต่อการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของกลุ่มสินเชื่อให้ลดลง

โดย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผู้ว่าการธปท.แถลงมาตรการช่วยเหลือด้านลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.63 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน (revolving loan) – ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจากเดิม 10% เหลือ 5% (ในปี 63-64), 8% (ในปี 65), 10% (ในปี 66) และลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้

2. สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ – ให้ธ.พ.และ SFI เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน, ผู้ให้บริการอื่นให้เลือกระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน

3. สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) ได้แก่ รถมอเตอร์ไซค์ : วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และรถทุกประเภท : วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และลีสซิ่ง (Leasing) มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท – ให้ผู้บริการเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ พักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน

4. สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท – ให้พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย

ทั้งนี้ผู้ว่าการธปท.ระบุว่ามาตรการช่วยเหลือข้างต้นเป็นมาตรการขั้นต่ำที่ธปท.ได้ร่วมกับ 9 สมาคมที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์, สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตลอดจนนอนแบงก์ เป็นต้น แต่สถาบันการเงินใดจะช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่านี้ก็สามารถทำได้

โดยลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการขั้นต่ำครั้งนี้รวมทั้งโครงการพิเศษที่แต่ละสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบนี้ จะไม่มีผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ โดยลูกหนี้ยังคงมีสถานะปกติต่อเนื่อง

สำหรับความเห็นของฝ่ายวิจัยฯ DBS : มาตรการดังกล่าวข้างต้นช่วยลดการเพิ่มขึ้นของ NPL เพราะ COVID-19 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ โดยจะเป็นลบต่อรายได้ในรูปเงินสดของกลุ่มแบงค์และไฟแนนซ์บ้างเพราะอัตราผ่อนชำระบัตรเครดิตต่องวดน้อยลง ส่วนสินเชื่อบุคคลและเช่าซื้อก็มีการให้เลื่อนชำระดอกเบี้ยได้ 3 เดือน รวมทั้งมีการลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้สินเชื่อบ้านด้วย ซึ่งมาตรการจะมีผลตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นไป แต่น่าจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

และด้วยมาตรฐาน TFRS9 มาตรการดังข้างต้นจะกระทบงบกำไรขาดทุนไม่มาก เพราะการรับรู้รายได้สถาบันการเงินจะมาจากประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตที่ปรับปรุงแล้ว (EIR) รวมทั้งไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มมากเนื่องจากจัดชั้นเป็นลูกหนี้ปกติ เราคงคำแนะนำซื้อ MTC (ราคาเป้าหมายใหม่ 58 บาท) ส่วน SAWAD อยู่ระหว่างปรับประมาณการ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าราคาเป้าหมายใหม่จะมี Upside จากราคาปิดที่ปรับลดลงมาก

 

 

Back to top button