QTC เลื่อนประชุมผถห.หนี “โควิด” จ่อปันผลระหว่างกาล 0.15 บ. 30 เม.ย.นี้

QTC เลื่อนประชุมผถห.หนี “โควิด” จ่อปันผลระหว่างกาล 0.15 บ. 30 เม.ย.นี้


นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตจัดจำหน่ายและให้บริการหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19)  ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเลื่อนการประชุมสามัญ  ผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 30 เมษายน 2563 ออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะมีการแจ้งกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้สิทธิการรับเงินปันผลของผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบจากการเลื่อนการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในรูปแบบเงินสดจากกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปี  2562 สิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2562  ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.15 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 51,163,883.55 บาท โดยบริษัทได้อนุมัติวันกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 14 เมษายน 2563 กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลระหว่างกาล(Record Date) วันที่ 15 เมษายน 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 เมษายน 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่  (QTC) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาโรคระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันอย่างรัดกุมและเข้มงวด พร้อมวางแผนงาน  วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น  เพื่อให้การปรับแผนงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด  อย่างไรก็ตาม  เชื่อว่าภาพรวมในครึ่งปีแรกของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมอาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะพลิกฟื้นขึ้นมาหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

ส่วนภาพรวมของบริษัทฯนั้น ได้มีการวางกลยุทธ์ ในการหาโอกาสเพื่อขยายช่องทางอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากช่วงปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ กับบริษัท LONGi Solar Technology Co., Ltd. ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Monocrystalline อันดับหนึ่งของโลก โดย QTC ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายและให้บริการดูแลหลังการขายแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอดรายได้ทางธุรกิจของบริษัทฯเพิ่มขึ้น ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรองรับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ รถยนต์ EV ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในระยะยาวจากปัจจุบัน ที่มีอยู่ประมาณ 3,000 คัน และยังทำให้เกิดความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต

พร้อมกันนี้ ยังได้ประเมินสถานการณ์ ในช่วงไตรมาส 1/2563 ว่า เบื้องต้นภาพรวมธุรกิจยังสามารถเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากมียอดขายหม้อแปลงในมือ (backlog) จำนวนกว่า 420 ล้านบาท ซึ่งสามารถทยอยส่งมอบได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอ้างอิงภายใต้ข้อกำหนดระยะเวลาเดิม กรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะเปิดให้มีการประมูลงาน มูลค่ารวม 2,000 – 3,000 ล้านบาท บริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าประมูลตามแผนเดิม ซึ่งคาดว่าจะได้งานไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่างาน

Back to top button