รอข่าวดีสิ้นเดือน

สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด (23 เม.ย.) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 13 คน (น้อยสุด) เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 2,839 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมผู้เสียชีวิต 50 ราย และรักษาหาย 2,430 คน


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด (23 เม.ย.) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 13 คน (น้อยสุด) เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 2,839 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมผู้เสียชีวิต 50 ราย และรักษาหาย 2,430 คน

สถิตินี้บอกว่า สถานการณ์ต่อสู้โควิดของประเทศไทย อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นมาก ๆ การติดเชื้อประจำวันน้อยลง ๆ มีผู้รักษาหายแล้วถึงร้อยละ 85 ของผู้ติดเชื้อ ยังคงมีผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาลแค่ 359 คน และมีสถิติการตายในระดับร้อยละ 1.7 เท่านั้น

เราปิดเมืองมาแล้ว 32 วัน (ตั้งแต่ 21 มี.ค.) ปิดห้างสรรพสินค้า ปิดโรงหนัง ปิดสนามกอล์ฟ ปิดร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ห้ามคนนั่งกิน-ดื่ม เข้มงวดการเดินทาง และประกาศเคอร์ฟิวฯลฯ กระทั่งห้ามการสังสรรค์ภายในบ้าน

คงยังไม่ถึงขั้นจะตั้งคำถามหรอกว่า สมควรจะยกเลิก ยาแรงหรือยัง” แต่ถ้าถามว่า สมควรจะผ่อนคลายกิจกรรมหรือธุรกรรมบางประเภทได้บ้างไหม อันนี้ก็น่าคิด!

ครับ มาตรการปิดเมือง เป็นผลดีต่อการรักษาโควิดและยับยั้งการแพร่ระบาดได้เป็นอันมากก็จริง แต่ก็น่าตั้งคำถามว่า จะต้องรอให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ หรือต้องปราศจากคนไข้หรือคนตายเลยไหม อันนี้ก็น่าจะเกินไป

เพราะยังมีคนจนอีกมากมายที่ตกงาน และหมดอาชีพ (อย่างน้อยก็ 21 ล้านคน) กำลังอดตาย ไม่มีอะไรจะกิน

ระหว่างความล้ำเลิศทางด้านการแพทย์กับระบบสาธารณสุขและการแก้ปัญหา ควรดำเนินงานควบคู่กันไป ระยะแรกก็อาจจะเน้นหนักทางการแพทย์ แต่ระยะต่อไปก็อาจจะต้องหันมาผ่อนคลายอาชีพให้คนมีรายได้จุนเจือครอบครัวกันบ้าง

ผมยังสะเทือนใจกับคำพูดของหญิงผู้ผิดหวังการลงทะเบียนรับความช่วยเหลือ 5,000 บาทคนหนึ่งว่า “พวกเราจะไม่มาขอเงินห้าพันที่นี่ (กระทรวงคลัง) หรอก หากเปิดให้พวกเราได้ค้าขาย”

ครับการช่วยเหลือของรัฐก็มีข้อจำกัดอยู่จริง ๆ นอกจากช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึงแล้ว ยังมีปัญหาข้อมูลผิดพลาดเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย การผ่อนคลายให้คนได้กลับคืนสู่อาชีพเดิมจะเป็นการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ระดับชาติเปรียบเปรยว่า การ ปิดเมือง” ก็เหมือนกับการ กลั้นหายใจ” ซึ่งคนที่มีทุนรอนสะสมย่อมจะกลั้นหายใจได้นานกว่าคนที่ขาดแคลน

“ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องที่คนกลั้นหายใจได้นานกว่า จะพร่ำบอกให้กลั้นหายใจกันต่อไปเถิด เพื่อความปลอดภัยของพวกเราทุกคน ในขณะที่คนกลั้นหายใจได้สั้นกว่า กำลังจะขาดใจตาย”

น่าฟังทีเดียวครับ นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์มหภาคและตลาดทุนท่านนี้

ผมก็เริ่มจะเห็นคนกลั้นหายใจได้นานกว่า เริ่มออกมาส่งเสียงกันแล้วว่า ต้องปิดเมืองกันต่อไป ไม่เช่นนั้นโควิดจะตีกลับเหมือนเช่นที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์

ซึ่งคนกลุ่มนี้ ก็เป็นคนกลุ่มน้อยที่เสียงดังซะด้วย

นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องความเชื่ยวชาญทางการแพทย์ของคุณหมอนักการเมืองท่านนี้ ก็ไม่ต้องเป็นห่วงนะครับ เพราะท่านคือ 1 ในผู้บุกเบิก “30บาทรักษาทุกโรค” หรือโครงการรักษาสุขภาพถ้วนหน้า อันได้รับการยกย่องไปทั่วโลก

คุณหมอสุรพงษ์ฟันธงว่า 1 พ.ค.นี้ ควรจะผ่อนคลายล็อกดาวน์ เพราะการปิดเมืองนานเท่าใด ก็ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนจนและคนชั้นกลางมากยิ่งขึ้นเท่านั้นจนทำให้ระบบเศรษฐกิจพังทลาย

เหตุผลในทางการแพทย์นั้น ก็คงไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยใหม่เป็นศูนย์ แต่เราสามารถจะ เปิดเมือง” ได้ ภายใต้การตื่นรู้ในการป้องกันโรคของประชาชนอย่างกว้างขวาง เช่นมีคนใส่หน้ากากอนามัยกันเกิน 90% และมีแอลกอฮอล์เจลล้างมือกันทั่วทุกหนแห่ง

นอกจากนี้ยังมีความพร้อมทางด้านการแพทย์ตลอดจนบุคลากร และ อสม.กว่าล้านคนคอยติดตามและเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ คุณหมอสุรพงษ์สรุปเรื่องการเปิดเมืองว่า “ยิ่งกว่าพร้อม”

ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่า ควรจะมีการ คลายล็อกดาวน์-คืนอาชีพ” เพื่อปลดปล่อยกิจกรรมบางอาชีพที่สามารถจะควบคุมได้ทาง “โซเชียล ดิสแทนซ์” บ้างแล้ว อาทิเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่มีที่นั่งจำกัด สนามกอล์ฟ หรือสายการบินในประเทศ ฯลฯ

ควรจะถือเป็นของขวัญสิ้นเดือนนี้ ไม่ถือเป็นการตั้งตนในความประมาทหรอก

Back to top button