‘การบินไทย’ ทางเลือกตามกระบวนการล้มละลาย

กรณีที่บริษัทการบินไทยล้มละลาย สิ่งที่อาจจะต้องคิดต่อเนื่อง คือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเจ้าหนี้ทั้งหลาย รวมถึงบุคลากรในสายการบินไทยเอง


Cap & Corp Forum

โดยปกติแล้วหากการประกอบธุรกิจขององค์กรทางธุรกิจใดประสบปัญหาขาดทุนมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินจนไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ องค์กรธุรกิจนั้นอาจถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายหรือสมัครใจเข้าขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายได้ อย่างไรก็ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยมีลักษณะบังคับให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งลูกหนี้จะตกเป็นบุคคลล้มละลาย

เจ้าหนี้จะต้องฟ้องลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยอ้างเหตุว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และหากศาลพิจารณาได้ความว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามฟ้อง ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด การฟ้องคดีดังกล่าวจะเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลายเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน

ซึ่งในกรณีนี้เป็นที่แน่ชัดว่าการบินไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งเข้าข่ายที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องการบินไทยให้ตกเป็นบุคคลล้มละลายได้ หากมีการฟ้องคดีดังกล่าวจะนำไปสู่ขั้นตอนของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายซึ่งเปิดโอกาสให้การบินไทยขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยขอลดจำนวนหนี้หรือขอชำระหนี้เป็นอย่างอื่น

ผลดีของการเจรจาประนอมหนี้ดังกล่าวจะทำให้การบินไทยสามารถลดจำนวนหนี้ที่จะต้องชำระให้กับเจ้าหนี้ลงได้ ส่วนเจ้าหนี้ก็ได้รับชำระหนี้แม้จะเป็นการรับชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนก็ตาม หากการเจรจาประนอมหนี้ไม่สำเร็จจะทำให้การบินไทยตกเป็นบุคคลล้มละลาย นำไปสู่การขายทอดตลาดทรัพย์สินของการบินไทยเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ กระบวนการนี้บุคคลที่มีความสำคัญ คือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การเจรจาประนอมหนี้ให้เกิดมีประสิทธิภาพสูงที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรที่มีขนาดใหญ่ และมีทรัพย์สินจำนวนมากอย่างการบินไทย อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทการบินไทยเดิมจะตกเป็นบุคคลล้มละลายไป ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทการบินไทย (ซึ่งอาจเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น) ในการจดตั้งบริษัทใหม่เพื่อจัดตั้งองค์กรธุรกิจใหม่และเข้าซื้อทรัพย์สินของบริษัทการบินไทยเดิมรวมถึงคัดเลือกบุคคลที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเข้าสู่องค์กรการบินไทยใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบินไทย โดยการวางโครงสร้างและยุทธศาสตร์ในธุรกิจการบินใหม่

อีกแนวทางหนึ่งซึ่งเป็นหนทางให้การบินไทยสามารถมาดำเนินกิจการใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง คือ การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งกระบวนการในการขอฟื้นฟูกิจการการบินไทยสามารถกระทำได้เองด้วยความสมัครใจโดยไม่ต้องรอให้เจ้าหนี้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลล้มละลาย สำหรับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจะส่งผลดีต่อการบินไทยหลายประการ เช่น การบินไทยจะหลุดพ้นจากการต้องชำระหนี้แต่จะต้องไปผูกพันตามแผนการฟื้นฟูกิจการแทน

และนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาตามแผน การบินไทยจะได้รับการพักชำระหนี้และห้ามไม่ให้ฟ้องร้องหรือขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์ หรือสั่งให้เลิกนิติบุคคล ห้ามฟ้องคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย ห้ามบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการขอฟื้นฟูกิจการจะต้องได้รับความเห็นชอบในแผนฟื้นฟูกิจการจากศาลก่อน

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวทางตามกฎหมายล้มละลายที่กำหนดให้สิทธิแก่ลูกหนี้ซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างการบินไทยในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมของกิจการของการบินไทยที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจและมีการขาดทุนต่อเนื่อง รวมถึงการแบกรับภาระต้นทุนของการบินไทยจากภาระในส่วนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และการบริหารกิจการในรูปของรัฐวิสาหกิจซึ่งอาจไม่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการแข่งขันในโลกของเสรีการบิน การฟื้นฟูกิจการอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน หรือแม้กระทั่งแนวทางที่รัฐบาลอาจนำมาใช้ในการแก้ไขโดยการนำเงินมาช่วยเหลือการบินไทยอาจเป็นเพียงแค่การนำเงินมาเพื่อยืดระยะเวลาให้กับการบินไทยไปอีกสักช่วงหนึ่งเท่านั้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่าทางเลือกทางรอดตามกระบวนการทางกฎหมายของการบินไทยที่อาจมีประสิทธิภาพที่สุด อาจเป็นการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายให้เร็วที่สุด โดยอาจให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่ และเป็นการบริหารจัดการในรูปของเอกชนผ่านการถือหุ้นและไม่ใช่รูปแบบรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวและวิสัยทัศน์ในการแข่งขันของระบบสายการบินอาจมีการตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่ โดยนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่สามารถที่จะเข้าซื้อทรัพย์สินรวมถึงว่าจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพในบริษัทการบินไทยเดิมอาจเป็นแนวทางที่ดีกว่าการขอฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีที่บริษัทการบินไทยล้มละลาย สิ่งที่อาจจะต้องคิดต่อเนื่อง คือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเจ้าหนี้ทั้งหลาย รวมถึงบุคลากรในสายการบินไทยเองซึ่งรัฐบาลอาจต้องนำเงินจำนวนที่จะใช้ในการอุ้มการบินไทยมาใช้ในการบรรเทาปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคลากรและเจ้าหนี้ของการบินไทย.

สุรินรัตน์ แก้วทอง

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Back to top button