“อนุทิน” แจง “คนร.” เคาะแผนฟื้น “บินไทย” เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

"อนุทิน" แจง "คนร." เคาะแผนฟื้น "บินไทย" ปรับโครงสร้างหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย แต่ไม่ใช่ให้บริษัทล้มละลาย!


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ (18 พ.ค.63)​ มีมติเห็นชอบแนวทางการฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)​ หรือ THAI เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ค.)

โดยหลักการคือการให้ THAI เข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่การให้บริษัทล้มละลาย แต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยอาศัย พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูกิจการ

นายอนุทิน ชี้แจงว่า ในหลักการของการแก้ไขปัญหาธุรกิจของ THAI กระทรวงการคลังไม่ควรค้ำประกันเงินกู้ เพราะ THAI ถือเป็นบริษัทมหาชน

แต่ส่วนการเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้ THAI ต้องหลุดออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ตามขั้นตอนก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะจะต้องมีการเจรจาตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้และผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ และเมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ แล้ว อำนาจของคณะกรรมการฯ จะหมดไป และอำนาจการบริหารทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งศาลจะเป็นผู้แต่งตั้งตามคำแนะนำของเจ้าหนี้ อีกทั้งแผนฟื้นฟูฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้

ส่วนจะมีผลกระทบกับพนักงานหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ กำไร ขาดทุน และเส้นทางการบิน ซึ่งผู้ทำแผนจะต้องมีการพูดคุยตกลงกับพนักงานการบินไทยทุกฝ่าย เพราะจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทในปัจจุบัน

  “การฟื้นฟูกิจการสำหรับบริษัทที่มีหนี้สิ้นเยอะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ไม่ต้องหยุดดำเนินกิจการ หรือไม่ต้องขายทอดทรัพย์สิน จะได้ไม่ต้องชำระหนี้ ภาษาเทคนิคเรียกว่า automatic stay ทุกอย่างหยุดหมด เจ้าหนี้รายไหนก็ไม่สามารถมาเรียกขอชำระหนี้ได้” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับทราบผลการประชุม คนร. เรื่องแผนการฟื้นฟู THAI แล้ว จึงได้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปจัดเตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 82 แห่งที่ลงทุนในหุ้นกู้ของ THAI เพื่อแถลงรายละเอียดในแต่ละมาตรการในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้

  “หลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องการฟื้นฟู บมจ.การบินไทย แล้วเสร็จ จะมีการแถลงรายละเอียดในมาตรการทั้งหมดที่จะนำมาดูแล 82 สหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับสหกรณ์ออมทรัพย์ และประชาชนที่สนใจในเรื่อง บมจ.การบินไทย ในส่วนที่ได้กำกับดูแล และหลังจากนั้นจะนัด 82 สหกรณ์ออมทรัพย์มาหารือทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับสหกรณ์เจ้าหนี้ในระยะต่อไป” น.ส.มนัญญา กล่าว

สำหรับ 82 สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย มูลค่าการลงทุน 42,229 ล้านบาท คิดเป็น 3.62% ของสินทรัพย์ที่สหกรณ์เหล่านั้นมี 1.17 ล้านล้านบาท โดยมีเพียง 7 แห่งที่ลงทุนในสัดส่วนมากกว่า 10% ของสินทรัพย์ และมีเพียง 15 สหกรณ์หรือ 18% ที่สภาพคล่องน้อยกว่า 10% ที่เหลืออีก 67 สหกรณ์ มีสภาพคล่องมากกว่านั้น โดยหุ้นกู้ที่ 82 สหกรณ์จะมีกำหนดไถ่ถอนต่างช่วงเวลากันตามอายุสัญญาหุ้นกู้นั้นๆ ระหว่างปี 63-77

Back to top button