ส่อง 4 หุ้น ผลประกอบการลดฝ่าวิกฤตปรับตัวรับ New Normal

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2/2563 จากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป


“ไตรมาส 2/63” เป็นช่วงที่หลายสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุนให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ ธุรกิจ และกำลังซื้อ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดรุนแรง มีประกาศเคอร์ฟิว ปิดพื้นที่-สถานประกอบการหลายประเภท แม้ปัจจุบันรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจบางส่วน เริ่มกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ แต่ก็ต้องบอกว่ายังอยู่ในภาวะ “ไม่เต็มร้อย” และสร้างผลกระทบต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2/2563 จากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการภาครัฐและมาตรการเปิดเมืองบางส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งความเสี่ยงสำคัญคือหากมีการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด -19 รอบสองในระดับที่น่ากังวล ก็อาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวเพิ่มเติมได้

ด้านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน หลายบริษัทที่เคยผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง “พลิกเป็นขาดทุน” หรือ “มีกำไรสุทธิลดลง” ทั้งนี้หากดูจากผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าไตรมาสที่ 1/2563 มีกำไรสุทธิรวม 1.09 แสนล้านบาท ลดลง 58% จากปีก่อน และลดลง 50% จากไตรมาส 4/2562 ขณะที่บริษัทจดทะเบียนใน mai มีกำไรสุทธิโดยรวมไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ประมาณ 698 ล้านบาท ลดลง 59.2% จากปีก่อนและลดลง 50.6% จากไตรมาส 4/2562

วิกฤตครั้งนี้ทำให้หลายบริษัทต้องเร่งปรับกลยุทธ์รับมือความไม่แน่นอนของโลก New Normal ที่อาจทำให้พฤติกรรมของผู้คนปรับเปลี่ยนในการใช้ชีวิตประจำวัน และสร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากขณะเดียวกันก็ต้องเร่งพลิกฟื้นผลประกอบการให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

 

บริษัท เอทีพี30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 หนึ่งในบริษัทที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ค่อนข้างดีมาตลอดด้วยโมเดลธุรกิจ “Snowball” ขยายฐานลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพเติมเข้ามาเรื่อยๆ และด้วยความเชี่ยวชาญในการบริหารระบบการเดินรถ บริษัทจึงได้แตกไลน์ธุรกิจโดยให้บริการรถรับส่งแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนในเขตภาคตะวันออก และให้บริการรถ Shuttle bus รับส่งมวลชน ศูนย์การค้าเมกาบางนา และโครงการ T77 อ่อนนุช ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่มาของรายได้ และเป็นโอกาสขยายฐานกลุ่มลูกค้า

อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรก กำไรสุทธิของบริษัทลดลง 55.22% อยู่ที่ 5.45 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รถรับส่งนักท่องเที่ยว และรถ Shuttle bus ให้บริการรับส่งลูกค้าศูนย์การค้าเมกาบางนาจำเป็นต้องหยุดให้บริการขณะที่บริการรถรับส่งพนักงานได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถรถยนต์ อีกทั้งพนักงานออฟฟิศของโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนมีนโยบาย Work From Home ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้รถบัสลดลง

ผลดังกล่าวทำให้ ATP30 จึงมีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ นำรถที่หยุดให้บริการนักท่องเที่ยวมาซับพอร์ตให้กับลูกค้าบางโรงงานที่ตอบสนองนโยบาย Social Distancing ที่มีความต้องการขอใช้บริการรถรับส่งเพิ่มขึ้นเพื่อเว้นระยะห่างให้กับพนักงาน เนื่องจากลูกค้าของ ATP30 ส่วนใหญ่เป็นโรงงานสายการผลิตที่ไม่สามารถหยุดการดำเนินงานได้จึงเป็นรายได้ที่จะเข้ามาทดแทนส่วนที่หยุดให้บริการไป

นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในทุกด้าน บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมพัฒนาเทคโนโลยี IOT เพื่อติดตามอายุการใช้งานต่างๆของตัวรถ ปรับปรุงความแข็งแกร่งและความสามารถในการบำรุงรักษารวมถึงการพัฒนาบุคลากร เพื่อรักษาคุณภาพในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเตรียมความพร้อมเรื่องของกระแสเงินสดเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารธุรกิจต่อไปไม่น้อยกว่า 6 เดือนซึ่งบริษัทเชื่อว่าเพียงพอจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ส่วนทางด้าน นายปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ ประเมินว่าผลประกอบการไตรมาส 2/2563 คาดจะปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 เนื่องจากบริษัทขยายฐานลูกค้าไปยัง จ.สระบุรี ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้เต็มไตรมาสในช่วงไตรมาส 2/2563 ประกอบกับลูกค้าเดิมมีความต้องการใช้รถเพิ่มรับส่งพนักงานเพิ่มขึ้น โดยบริษัทจะบริหารจัดการให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30

 

บริษัท ไฟร์เทรดเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ FTE อีกหนึ่งธุรกิจที่รักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากธุรกิจที่เรียกได้ว่ากึ่งผูกขาด เพราะอุปกรณ์ดับเพลิงต้องใช้ผลิตภัณฑ์ระดับโลกที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมตามกฎหมายกำหนด อีกทั้งงานออกแบบติดตั้งระบบดับเพลิงยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 1/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 11.93 ล้านบาท ลดลง 59.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากโครงการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว รวมถึงงานด้านบริการ ตรวจสอบ ซ่อมบำรุง ที่ต้องหยุดให้บริการบางส่วนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งบริษัทยังมีการตั้งสำรองลูกหนี้และสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ผลดังกล่าวส่งผลให้ FTE จึงมีการปรับกลยุทธ์ มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโครงการทั้งเรื่องคุณภาพและระยะเวลาในการติดตั้ง ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย ให้รัดกุมมากขึ้น รวมถึงพัฒนาบุคลากรของบริษัทให้มีความพร้อม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการดำเนินงาน

พร้อมยื่นประมูลงานภาครัฐเอกชนต่อเนื่อง ขณะนี้บริษัทยื่นประมูลงานออกแบบติดตั้งระบบดับเพลิง มูลค่ารวมประมาณ 850 ล้านบาท คาดว่าจะมีโอกาสรับงานมูลค่าประมาณ 260 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ประมาณ 460 ล้านบาท แบ่งเป็นงานจัดจำหน่าย 70 ล้านบาท งานออกแบบติดตั้งระบบดับเพลิง 390 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าตามแผนก่อสร้างคลังสินค้าขนาดพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนลาดกระบัง เพื่อรองรับการขนส่งสินค้านำเข้าจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังจังหวัดชลบุรี พร้อมสร้างโรงงานประกอบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง (Fire pumps) ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดหรือเร็วกว่ากำหนด และสามารถต่อยอดไลน์สินค้าในอนาคต รวมถึงมีรายได้เสริมจากบริการตรวจสอบ ซ่อมบำรุงโดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้

อีกทั้งนำเข้าสินค้าใหม่ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน จากแผนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บสินค้าให้มีประสิทธิภาพ สามารถบริหารควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น และเป็นการกระจายที่มาของรายได้

ส่วนทางด้าน นายทักษิณ ตันติไพจิตร กรรมการผู้จัดการ คาดว่าแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/2563 จะปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัททยอยรับรู้รายได้จากโครงการที่มีอยู่ใน Backlog และประเมินว่าโครงการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจะทยอยกลับมาพิจารณาการลงทุนอีกครั้ง อาทิ โครงการภาครัฐที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน การพัฒนาปรับปรุงระบบไฟฟ้า การก่อสร้างโรงพยาบาล รวมถึงการก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภค

ทักษิณ ตันติไพจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟร์เทรดเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ FTE

 

บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY หนึ่งในบริษัทที่ผลประกอบการช่วงที่ผ่านมา มีความสามารถการทำกำไรมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก แต่ในไตรมาส 1/2563 พลิกขาดทุนสุทธิเป็นครั้งแรกโดยมีผลขาดทุน 39.68 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้รับปัจจัยลบรอบด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ และที่หนักที่สุดคือผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ออกมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าและปิดประเทศเดือน มี.ค.- พ.ค. 63  ทำให้บริษัทต้องปิดร้านค้าปลีกชั่วคราวเกือบ 300 สาขาทั่วประเทศ  คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ของจำนวนสาขาทั้งหมด ประกอบกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้จำหน่ายสินค้าได้ลดลง

ผลดังกล่าวทำให้ทาง BEAUTY เร่งปรับกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจและมีแผนการรับมือ New Normal เพื่อฝ่าวิกฤติกู้ยอดขาย โดยจะมุ่งเน้นในด้านหลักๆประกอบด้วย

1.บริหารจัดการต้นทุนทุกด้าน ควบคุมค่าใช้จ่าย โดยปรับลดทั้งต้นทุนคงที่และสัดส่วนของต้นทุนผันแปรต่อรายได้รวม อีกทั้งตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็น รวมถึงปรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และการตลาด การโฆษณาให้เหมาะสม

2.ตลาดในประเทศเร่งยอดขายทุกช่องทางจำหน่าย มุ่งเน้นเพิ่มช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย โดยสามารถซื้อขายผ่านเว็บไซต์ของบริษัท อีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ชั้นนำต่างๆ อีกทั้งพัฒนาโมเดลการขายใหม่ อาทิ บิวตี้ออนไลน์ช็อป พนักงานขายหน้าร้านสามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้

นอกจากนี้บริษัทเตรียมเปิดคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย โดยใช้กลยุทธ์ O2O  ออฟไลน์และออนไลน์ผสานเข้าด้วยกัน คาดว่าโอกาสธุรกิจจะกลับมาหลังการปลดล็อคดาวน์ ซึ่งจะสามารถเปิดสาขาร้านค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าได้ตามปกติ

3.ตลาดต่างประเทศ โฟกัสช่องทางจำหน่ายประเทศคลายล็อคดาวน์ กลุ่มประเทศในเขต (South East Asia) อาทิ กัมพูชา เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย สำหรับประเทศจีน ปัจจุบันเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาบ้างแล้วหลังจากเปิดเมืองแต่อยู่ในระดับเพียง 10-20% เท่านั้น ธุรกิจจากนี้จึงอยู่ในช่วงประคองตัว

โดยคาดว่าปลายไตรมาส 3/2563 จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากยอดขายและกำลังซื้อที่ฟื้นตัว ทั้งในประเทศจีนและฮ่องกง อีกทั้งบริษัทมีการปรับแผนออกสินค้าใหม่ที่มีกำไรดีมาชดเชยยอดขายที่ลดลง รวมถึงการร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3

ส่วนทางด้าน นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องในไตรมาส 2-3 คาดว่าผลประกอบการจะลดลงจากไตรมาส 1ที่ผ่านมา โดยบริษัทประเมินว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากยอดขายและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวปลายไตรมาส 3/2563

อีกทั้งบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีสภาพคล่องเพียงพอ สามารถบริหารจัดการธุรกิจและนำมาปรับแผนการดำเนินงานทั้งระบบการค้า สร้างช่องทางจำหน่ายใหม่ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่องและมั่นใจว่าสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นและผ่านพ้นวิกฤต และจะพลิกกลับมามีกำไรได้ภายในปีนี้

นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY

 

บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักซ์ชัวรี่ของประเทศไทย มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดลักซ์ชัวรี่อยู่ที่ 13% สร้างผลประกอบการเติบโตดีทั้งรายได้และกำไรมาโดยตลอดแต่ในไตรมาส 1/2563 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 139 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะเดือนเม.ย.-พ.ค. 2563 มีมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ อีกทั้งข้อจำกัดงดการเดินทางทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศทำให้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์โครงการเป็นไปได้ยากขึ้น

ผลดังกล่าวส่งผลให้ทาง RMLจึงได้วางกลยุทธ์ เพื่อดำเนินธุรกิจให้ขับเคลื่อนต่อไป ดังนี้

  1. เร่งระบายสต็อกโครงการที่มีอยู่ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ The Lofts Asoke, โครงการ Diplomat 39, โครงการ Diplomat Sathorn,โครงการ The River และโครงการ Unixxเพื่อเพิ่มยอดขาย (Presales) เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสดของบริษัท โดยเน้นขายโครงการให้กับลูกค้าชาวไทยและลูกค้าต่างชาติ ถึงแม้ว่าตอนนี้ลูกค้าต่างชาติจะยังไม่สามารถเดินทางมาโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่บริษัทมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง จากลูกค้าชาวไทยบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีความสนใจเลือกซื้อโครงการของ RML อยู่
  2. บริษัทพยายามรักษากระแสเงินสดให้อยู่ในระดับที่พร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง RML มีศักยภาพที่จะชำระหุ้นกู้ ปัจจุบันกระแสเงินสดมีเพียงพอที่จะจ่ายคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในเดือนก.ค. จำนวน 712 ล้านบาท และในเดือนธ.ค. จำนวน 200 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
  3. ใช้กลยุทธ์ O2O (Online to Offline) โปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์ โดยทำให้ลูกค้าสามารถดูห้องตัวอย่างได้แบบเสมือนจริง ก่อนที่จะเข้าไปเยี่ยมชมที่โครงการ ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชั่น กระตุ้นความต้องการของลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งสอดคล้องกับความปกติใหม่ หรือ New Normal หลังเผชิญวิกฤตโควิด – 19 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความท้าท้าย โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน แม้ในสถานการณ์ปิดเมืองหรืองดการเดินทาง

ส่วนทางด้าน นายไลโอเนล ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่า บริษัทพยายามเน้นสร้างยอดขายและโอนกรรมสิทธิ์จากกำลังซื้อภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะลูกค้าชาวไทยที่มีกำลังซื้อ อย่างไรก็ตามแม้ว่าลูกค้าต่างชาติจะยังโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังมีความสนใจที่จะซื้อโครงการของ RMLอยู่                       ซึ่งบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการโปรโมทและทำการตลาดกับลูกค้าต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดยอดขายจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ

ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้น บริษัทเชื่อว่าหากสถานการณ์คลายล็อกดาวน์แล้ว และเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้นั้น ลูกค้าต่างชาติที่เคยดีลการขายไว้ก่อนหน้านี้ น่าจะสามารถเดินทางกลับมาโอนกรรมสิทธิ์อย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป  โดยเฉพาะโครงการThe Lofts Silomเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวจีน และถือเป็นโครงการหลักที่จะรับรู้รายได้ในปีนี้ และมียอดขายแล้ว 82%  ซึ่งโอนไปแล้ว 15% ตั้งแต่ในไตรมาส 4/2562 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันลูกค้าชาวจีนยังไม่มีสัญญาณการยกเลิกการจองในโครงการดังกล่าว

ไลโอเนล ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML

Back to top button