โบรกฯ แท็กทีมเชียร์ “ซื้อ” CK ลุ้นคว้างานใหม่กว่า 2 แสนลบ. หนุนแบ็คล็อกทะลัก

โบรกฯ แท็กทีมเชียร์ "ซื้อ" CK ลุ้นคว้างานใหม่กว่า 2 แสนลบ. หนุนแบ็คล็อกทะลัก


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมบทวิเคราะห์หุ้น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK หลังนักวิเคราะห์จากหลากหลายสำนัก แนะนำ ”ซื้อ” จากความคาดหวังว่า ผลประกอบการฟื้นตัวได้ในระยะยาว จากครึ่งหลังของปี 63 คาดว่าจะสามารถคว้างานประมูลโครงการใหม่ๆ จากภาครัฐที่จะออกมา 2.89 แสนล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณงานในมือ (Backlog) กลับมาขยายตัว ซึ่งจะสนับสนุนผลงานปี 64 ให้เติบโตได้ดี

โดย นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาพื้นฐาน CK ที่ 30.85 บาทต่อหุ้น มองปัจจัยบวกที่อาจเกิดขึ้นคือ 1) บรรยากาศเชิงบวกจากการประมูลเมกะโปรเจกต์ โดยเฉพาะ MRT สายสีส้มและสีม่วง 2) แผนการเชิงรุกของผู้บริหารในการเพิ่มมูลค่า backlog เป็น 2 แสนลบ. และ 3) การฟื้นตัวของกำไรแบบ V-shape นอกจากนี้ มูลค่าหุ้นของ CK ยังถูกโดยซื้อขายด้วย PBV ล่วงหน้า 1 ปี ที่ 1.2 เท่า, 1.5SD ต่ำกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น CK ประเมินราคาเป้าหมาย 24 บาทต่อหุ้น โดย Backlog ปัจจุบันต่ำจะกดดันผลประกอบการปีนี้ไม่เด่น  แต่คาดหวังงานประมูลซึ่งกลุ่ม CK มีความได้เปรียบคือรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และ ม่วงใต้ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง จะหนุน Backlog เข้าสู่ New S-Curve ในปี 2564

ขณะที่ CK มีเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำของประเทศ คือ BEM, CKP และ TTW มีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็น 41 บาทต่อหุ้น  ซึ่งมีแนวโน้มเติมโตในระยะยาว และ ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน และเงินปันผล

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 คาดจะมีกำไรเล็กน้อย หลังจากที่ไตรมาส 1/63 ขาดทุนเท่ากับ 112 ล้านบาท  แรงหนุนเงินปันผลรับจาก TTW เข้ามาช่วยประมาณ 230 ล้านบาท  ในขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากBEM และ CKP จะอยู่ในระดับต่ำต่อ โดย BEM ถูกกระทบจาก Covid-19 และ CKP ถูกกระทบจากปัญหาภัยแล้ง  ส่วนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างคาดจะมียอดรับรู้รายได้ในระดับต่ำ จากเหลือ Backlog ต่ำ 3.5 หมื่นล้านบาท  จึงปรับประมาณการกำไรปีนี้ลดลง คาดกำไร 789 ล้านบาท ลดลง 56% เมื่อเทียบจากปีก่อน

ทั้งนี้ผู้บริหาร CK คาดหวังงานโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 1.2 แสนล้านบาท เป็นแบบ PPP Net Cost จะเปิดประมูล มิ.ย.-ก.ค. และ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 1.07 แสนล้านบาท เป็นแบบ PPP Cross Cost จะเปิดประมูลในช่วงไตรมาส 4  ซึ่ง CK จะร่วมกับ BEM เข้าประมูล และมีความได้เปรียบจากต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินงาน และ ความต่อเนื่องของรถไฟฟ้าปัจจุบัน คือ สายสีน้ำเงิน และ สายสีม่วง ร่วมด้วย

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำให้ “ซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมาย 23.80 บาทต่อหุ้น จากการเติบโตในระยะยาว ถึงแม้ว่าผลประกอบการของ CK จะอ่อนแอลงในไตรมาส 2/63 จากส่วนแบ่งกำไรลดลง แต่ยังคงแนะนำให้ “ซื้อ” เนื่องจากคาดว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง ประกอบกับงานในมือจะกลับมาเพิ่มขึ้นหนุนผลประกอบการปี 64 และรวมมูลค่าของเงินลงทุนและหักหนี้สินอยู่ที่ 25.03 บาท/หุ้น เกินราคาปัจจุบันของ CK

ขณะเดียวกัน คาดรายได้จากการก่อสร้างและอัตรากำไรจะคงที่ในไตรมาส 2/63 แต่ส่วนแบ่งกำไรของ BEM จะลดลงจากไตรมาส 1/63 จากผลกระทบของโควิด-19 ในขณะที่ผลประกอบการของ CKP จะถูกกระทบจากภัยแล้ง แต่เงินปันผลจาก TTW จำนวน 232 ล้านบาทยังหนุนผลประกอบการ โดยรวมแล้วผลประกอบการไตรมาส 2/63 จะกลับมากำไร แต่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ก่อนที่จะดีขึ้นในไตรมาส 3/63  จากส่วนแบ่งกำไรของ BEM ที่เพิ่มขึ้นจากการคลาย Lockdown และระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าฤดูฝน

นอกจากนี้ คาดงานในมือกลับมาขยายตัวช่วงปลายปี จากปัจจุบัน CK มีงานในมือ 3.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าเสร็จภายในปีนี้ และโครงการที่คาดว่าจะประมูลในปีนี้ได้ เช่น ทางด่วนที่ย่างกุ้ง, MRT สายสีส้ม, สายสีม่วง และรถไฟรางคู่ ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 64 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมาย 23 บาทต่อหุ้น  คาดว่ามีโอกาสสูงที่จะได้งานประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) มูลค่างานสูงถึง 9.1 หมื่นล้านบาท เฉพาะในส่วนงานโยธา เพราะงานส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างแบบใต้ดินที่ CK มีความชำนาญ และมีจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ CK ในปัจจุบันซึ่งจะทำให้เวลาเสนอราคาจะประหยัดเหนือคู่แข่ง รวมทั้งงานขนาดใหญ่อื่น ๆ อีก เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟทางคู่สายต่าง ๆ ก็มีโอกาสจะได้เช่นกัน

โดยคาดว่าจะมีโอกาสเติมงานก่อสร้างในมือ (Backlog) ด้วยการประมูลงานภาครัฐที่จะทยอยออกมามูลค่ามากถึง 2.897 แสนล้านบาท ตามรูปแบบที่บริษัทจะได้งานคือ New S-Curve ในปี 64 ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ต้องยอมรับว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีงานใหญ่ ๆ เปิดประมูลน้อย และทางบริษัทต้องการตรึงอัตรากำไรขั้นต้นในระดับ 7.9-8.6% ส่งผลให้งานก่อสร้างในมือมีน้อย ล่าสุด ณ ปลายไตรมาส 1/63 มีเพียง 3.51 หมื่นล้านบาท เป็นสถิติต่ำสุดตั้งแต่ปี 53 อีกทั้งงานที่ควรจะได้ราวไตรมาส 4/63 คือ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็มีโอกาสจะเลื่อนเป็นปีหน้าหรือปี 64 เพราะระยะนี้ยังอยู่ในช่วงการออกแบบ

อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้จะอ่อน แต่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในปี 64 แรงหนุนนำจะมาจากรายได้จากการก่อสร้างที่กระเตื้องดีขึ้น ผนวกกับกำไรตามส่วนได้เสียจากบริษัทร่วมที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นซึ่งได้แก่ BEM,TTW และ CKP คาดว่าปีนี้กำไรหลักจะลดลง 49% จากปีก่อน และไปฟื้นตัวได้ 53% ในปี 64 ทั้งนี้รายได้รายไตรมาสตั้งแต่ไตรมาส 2/63 ถึงไตรมาส 4/63 จะอยู่ในระดับไม่สูง ราว 5 พันล้านบาทต่อไตรมาส

ทั้งนี้ ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็นซื้อ ราคาพื้นฐานใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 23 บาทต่อหุ้น ด้านส่วนเงินลงทุนประเมินด้วยมูลค่าที่เหมาะสมและใช้ส่วนลดเพียง 60% เห็นว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นสะท้อนเรื่องผลการดำเนินงานที่อ่อนในปี 63 และการมี Backlog ที่น้อยไปแล้ว แต่จากนี้ไปราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้จากการที่ปี 63 เป็นจุดต่ำสุดแล้ว มีโอกาสได้งานเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญและกำไรที่จะฟื้นตัวได้ในปี 64 อีกทั้งบริษัทอยู่ในช่วงโปรแกรมการซื้อหุ้นคืนที่จะช่วยจำกัดราคาหุ้นที่จะเป็นขาลงได้

รวมถึง นักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 22 บาทต่อหุ้น คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/63 สามารถกลับมาทำกำไรได้อีก หลังจากได้รับเงินปันผลจาก TTW จำนวน 232 ล้านบาท แต่รายได้จากธุรกิจหลักยังประสบภาวะขาดทุน จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง และส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนลดลงจาก BEM ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ CKP ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ขณะเดียวกันมีการปรับประมาณการผลประกอบการปีนี้ลงเล็กน้อยที่ 5.3% หรือราว 932 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับลดสมมติฐานส่วนแบ่งกำไรจาก BEM และ CKP ลง อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการเปิดประมูลโครงการใหม่ๆ จากภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลังจะออกมาค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขการใช้จ่ายเงินงบประมาณในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีเพียง 45% อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณภาครัฐจะสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามที่กำหนด

ทั้งนี้ CK จะมีโอกาสสูงในการชนะประมูลโครงการใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการในปี 64 โดยแบ่งเป็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลใน 1-2 เดือนข้างหน้า, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ฝั่งใต้ มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท คาดเริ่มจัดทำ TOR และเปิดประมูลได้ช่วงปลายปี 63

รวมทั้งโครงการรถไฟรางคู่ เส้นเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 7.2 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มเปิดประมูลได้ไตรมาส 4/63 และโครงการรถไฟรางคู่ เส้นบ้านไผ่-นครพนม มูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มเปิดประมูลในช่วงไตรมาส 4/63 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดโครงการข้างต้นจะได้ผลผู้ชนะและเริ่มสร้างรายได้ได้ในปี 64 เป็นต้นไป

Back to top button