มะเร็งร้ายของไทย

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็น 1 ในผู้ทรงอิทธิพลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความหมาย แต่มักไม่ค่อยพูดความจริงจนกระทั่งตอนที่กำลังหรือพ้นจากเก้าอี้ไปแล้ว


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็น 1 ในผู้ทรงอิทธิพลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความหมาย แต่มักไม่ค่อยพูดความจริงจนกระทั่งตอนที่กำลังหรือพ้นจากเก้าอี้ไปแล้ว

ผู้ว่าการ นายวิรไท สันติประภพ ก็อยู่ในช่วงดังกล่าว

คำปราศรัย ทิ้งทวน ล่าสุดของเขา หากพูดไปเมื่อ 4 ปีก่อน คงมีประโยชน์มากกว่านี้หลายเท่า การพูดถึง มะเร็งร้ายทางเศรษฐกิจของประเทศ” เมื่อตอนจะอำลา จึงไม่มีอะไรดีขึ้นมากนัก แต่เป็นการผลักภาระให้คนอื่น ๆ มารับไปทำภารกิจแทนตัวเขาที่ใช้เวลาในตำแหน่งไปอย่างสูญเปล่า

อย่าลืมว่า ช่วงเวลาตอนที่เขานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการธปท.นั้น เขาไม่เคยเอ่ยมาถึงปัญหาที่ใครต่อใครเอ่ยถึงในฐานะมะเร็งร้ายที่เป็นสมุฏฐานสำคัญกัดกร่อนเศรษฐกิจไทยจนบิดเบี้ยว แต่มักจะพูดถึงแก้ที่อาการด้วยการกินยาแก้ปวด ระงับชั่วคราวเท่านั้นเอง

นายวิรไทระบุถึง ภูเขา 3 ลูกทางเศรษฐกิจไทย ในการเปิดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2563 “หัวข้อ” ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง “Restructuring the Thai Economy” ระบุถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยทั้ง 3 ด้าน ซึ่งได้แก่

– ด้านผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ที่เกิดขึ้นในระดับจุลภาค เพราะธุรกิจไทยจำนวนมากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำ ซึ่งมีเหตุผลมาจากการขาดแรงจูงใจและแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะและ การเข้าถึงเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันการผลิตและห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ขาดการแข่งขันกันระหว่างธุรกิจอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่อาจจะมีนวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าตลาดอยู่เดิมได้

ขณะที่ในระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการผลิตและบริการแบบดั้งเดิมอยู่มาก ในขณะที่การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสําหรับโลกใหม่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทําให้บทบาทของผู้ผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานยังจํากัดอยู่ในกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ในขณะที่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะที่เน้นการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นฐานยังไม่พัฒนาอย่างแพร่หลาย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีพื้นฐานดี ได้เปรียบประเทศอื่นในหลายอุตสาหกรรม

เรื่องนี้ นายวิรไทเอ่ยขึ้นมาเสมือนปัญหาที่ไม่สัมพันธ์กับความคร่ำครึของระบบการศึกษา ที่เป็นมะเร็งร้ายที่ฉุดรั้งศักยภาพของแรงงานไทยมายาวนาน และยังไม่พูดเรื่องความอ่อนด้อยของทุนท้องถิ่น ที่พึ่งพาทุนต่างชาติมายาวนานจนเข้าข่ายทำให้กลายเป็นทุนนิยมพึ่งพา

 – เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำ ขาดความสามารถในการรับมือกับภัยต่าง ๆ โดยมองว่าในระดับจุลภาค ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางทางการเงิน ครัวเรือนและธุรกิจ จํานวนมากโดยเฉพาะ SMEs มีข้อจํากัดในการเข้าถึงการออมและสินเชื่อ ทําให้ไม่มีแหล่งเงินสํารองไว้ใช้ในยามวิกฤติ รวมทั้งไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มจากสถาบันการเงินในระบบได้ในสถานการณ์ที่จําเป็นเร่งด่วน ขณะที่ทางด้านแรงงานและผู้ประกอบการจํานวนมากยังอยู่นอกระบบ ไม่มีกลไกของภาครัฐที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง แรงงานเหล่านี้ยังมีข้อจํากัดด้านทักษะและความสามารถในการปรับตัวเมื่ออาชีพที่ทําอยู่เดิมได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด

ส่วนในระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงเศรษฐกิจต่างประเทศมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกสินค้าและบริการเป็นเครื่องจักรสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การพึ่งพิงดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ทําให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางและได้รับผลกระทบรุนแรงในยามที่เศรษฐกิจโลกสะดุดลง

จะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบ สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศจากวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้

แม้นายวิรไท จะไม่พูดถึงรูปธรรมของการปิดโรงงานย้ายฐานของทุนต่างชาติอย่างเจนเนอรัล มอเตอร์สหรือ ล่าสุดกรณีปิด (โรงงานผลิตเครื่องซักผ้าของพานาโซนิคจากญี่ปุ่นเพื่อย้ายไปเวียดนามแทน แต่ก็เข้าใจกันได้ว่า เป็นผลพวงจากปัญหาข้อแรกคือทุนนิยมพึ่งพานั่นเอง

– ข้อสุดท้าย ผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยกระจุกตัวสูง มีความเหลื่อมล้ำ การกระจุกของเศรษฐกิจในมือกลุ่มทุนน้อยราย ที่ทำให้คนไทยต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางโอกาสตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา โดยเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความรู้น้อย มีทุนทรัพย์น้อย มักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นมาก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา บริการสุขภาพ และทรัพยากรต่าง ๆ แตกต่างกันโดยเด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อใน ระดับอุดมศึกษาเพียง 5%

กรณีประชากรที่มีรายได้สูงสุด 1% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันถึง 20% ของรายได้ทั้งหมดของประชากรทั้งประเทศ ส่วนในภาคการผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด 5% ครองส่วนแบ่งรายได้ถึง 85% ของรายได้จากการผลิตนอกภาคเกษตรทั้งหมด และผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดต่อหัวของจังหวัดที่สูงสุดสูงกว่าจังหวัดที่ต่ำที่สุดถึง 18 เท่า

ที่น่าสนใจคือสำหรับข้อเสนอของผู้ว่าวิรไท ในการแก้ปัญหา ซึ่ง เหลือเวลาไม่มาก 3 ประการกลับยังคงแนะนำให้ กินยาระงับปวดไปเรื่อย ๆ ได้แก่

  • การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นต้องสอดคล้องกับทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
  • การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงถ้าเราไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งได้ จึงจำเป็นต้องลดอุปสรรคในการโยกย้ายทรัพยากร
  • ท้องถิ่นต่างจังหวัดจะต้องเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
  • การให้ยาระงับปวด ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย จึงไม่น่าจะเป็นไปได้กับคำถามที่นายวิรไทตั้งไว้ตอนจบว่า ทําอย่างไร การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงจะเกิดได้จริง

คำถามต่อไปคือ เพราะวิธีคิดแบบนี้ รึเปล่าที่ทำให้นายวิรไท ไม่ถูกแต่งตั้งเป็นรมว.คลังของรัฐบาลประยุทธ์ล่าสุด ซึ่งก็สมควรแล้ว

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชง……อันตรายยิ่ง

Back to top button