SCB บุกพม่า.!

คงจำกันได้ถ้าย้อนความก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีการปรับทัพ...ดึง “มาณพ เสงี่ยมบุตร” ซึ่งเป็นมือดีที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนต่างประเทศ มานั่งเก้าอี้รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน (Chief Financial Officer : CFO)


สำนักข่าวรัชดา

คงจำกันได้ถ้าย้อนความก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีการปรับทัพ…ดึง “มาณพ เสงี่ยมบุตร” ซึ่งเป็นมือดีที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนต่างประเทศ มานั่งเก้าอี้รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน (Chief Financial Officer : CFO)

การดึง “มาณพ” มาคุมการเงินแบงก์ม่วงครั้งนั้น…ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการหันหัวเรือไปต่างประเทศมากขึ้นหรือไม่..?

หลังจากธุรกิจแบงก์บ้านเราต้องเผชิญโจทย์ท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่ถูกกระแสดิสรัปชั่น ทำให้การหาค่าธรรมเนียมไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน ตามมาด้วยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ที่เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9) ที่กดดันผลประกอบการ

ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อค่อนข้างจำกัด จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เติบโตในกรอบจำกัด…แล้วยังมีเชื้อไวรัสร้ายโควิด-19 ซ้ำเติมอีก

แบงก์จึงไม่ต่างจากหลาย ๆ ธุรกิจที่อยู่ในภาวะดิ้นหนีตาย…ต้องขยับออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในต่างประเทศ

ครั้งนี้ก็ชัดเจน…SCB มีการตั้งบริษัทลูกในเมียนมา (พม่า) ภายใต้ชื่อ Siam Commercial Bank Myanmar Limited (SCBM) ด้วยทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท หรือประมาณ 4,600 ล้านบาท เพื่อเตรียมตีเมืองขึ้นเมียนมาอย่างเต็มรูปแบบ…

แหม๊…แค่เห็นทุนจดทะเบียน SCBM ก็ชัดแล้วว่า ตลาดเมียนมาคงเป็นเรือธงใหม่ของ SCB

ถ้าจะถามว่าเมียนมามีอะไรดี…คำตอบคงอยู่ที่จำนวนประชากรราว 54 ล้านคน แม้จะไม่เยอะมาก ถ้าเทียบกับคนไทย แต่อัตราการเข้าถึงบริการธนาคารที่ยังน้อย ก็ถูกมองว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก…

โดยก่อนหน้านี้ “เฮียอาทิตย์ นันทวิทยา” ระบุว่า SCB วางแผนจะเจาะตลาดลูกค้ารายย่อยชาวเมียนมา ด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล ดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา โดยตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567

นี่คือขุมทรัพย์แหล่งใหม่ของ SCB

อ้อ…ไม่ใช่แค่แบงก์ม่วงเท่านั้นนะที่จะเปลี่ยนจากผ้าไหมไทยไปสวมใส่โสร่ง ยังมีแบงก์เขียว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ก็เป็นอีกแบงก์ที่หันไปสวมโสร่งเหมือนกัน

แต่เคสของ KBANK จะใช้วิธีส่งบริษัทลูกอย่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด เข้าไปถือหุ้น 35% ของธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) แทนการเปิดสาขาเอง เนื่องจากมองว่าใช้เงินทุนน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า

ที่สำคัญสามารถรับรู้ส่วนแบ่งรายได้และกำไรได้ทันที..!!

กลับมาที่ SCB…เคสที่เมียนมาน่าจะเป็นการเปิดเกมล่าอาณานิคมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในตลาด CLMV ที่มีโอกาสเติบโตได้มาก

ก็น่าจับตากลยุทธ์หาลู่ทางโตในต่างประเทศ จะช่วย “ปิดจุดเสี่ยง…เปิดจุดโต” ให้กับ SCB ได้หรือไม่..?

คงเป็นบทพิสูจน์ฝีมือ “เฮียอาทิตย์” อีกครั้งแล้วล่ะ..!?

ยังไงก็เอาใจช่วยนะคะเฮีย…

…อิ อิ อิ…

Back to top button