พาราสาวะถี

จะดีใจหรือไม่กับรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช.ต่อที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ม็อบคณะราษฎรอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการไม่มีกิจกรรมถี่ยิบเหมือนช่วงก่อนหน้าก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เห็นได้ชัดจากการจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ทั้งที่เห็นว่านั่นเป็นการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงและโดยปกติในอดีตน่าจะมีคนเข้าร่วมน้อย แต่ปรากฏว่ามีคนแห่แหนไปร่วมชุมนุมคับคั่งเหมือนเดิม


อรชุน

จะดีใจหรือไม่กับรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช.ต่อที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ม็อบคณะราษฎรอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการไม่มีกิจกรรมถี่ยิบเหมือนช่วงก่อนหน้าก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เห็นได้ชัดจากการจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ทั้งที่เห็นว่านั่นเป็นการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงและโดยปกติในอดีตน่าจะมีคนเข้าร่วมน้อย แต่ปรากฏว่ามีคนแห่แหนไปร่วมชุมนุมคับคั่งเหมือนเดิม

คำถามที่ต้องย้ำกันคือ การประเมินตัวเลขและรายงานให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เป็นไปด้วยข้อเท็จจริงหรือเป็นข้อมูลสอพลอเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ปัจจุบันมันก็โกหกกันไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเลือกที่จะหยิบยกเอาประเด็นไหนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตนเท่านั้น และเลือกที่จะยอมรับความจริงหรือหลอกตัวเองเพื่อให้สบายใจ จนกระทั่งเลยเถิดไปหลอกลวงประชาชนด้วย ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าในยุคนี้ยังมีคนมืดบอดหลงเชื่อกันอยู่

เหมือนสิ่งที่ผู้นำเผด็จการพูดไปบ่นไปล่าสุดบนเวทีสัมมนาภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน ซึ่งจัดกันในโรงแรมหรูใจกลางเมืองหลวง กับชุดข้อมูลที่ว่า ไม่หวงตำแหน่งแต่ห่วงฐานะประเทศหวั่นคนไทยตีกันเองจนทำให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตหนี นี่ไม่รู้จริงหรือว่าแกล้งโง่ หรือรับไม่ได้กับความจริงที่ว่าบริษัทต่างชาติย้ายหนีฐานการผลิตไปจากประเทศไทยเพราะอะไร มันไม่ใช่เรื่องของม็อบ ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายเห็นต่างสองขั้วทางการเมือง เป็นเรื่องที่ท่านผู้นำและคณะก็รู้อยู่แก่ใจ

ไม่ต้องไปพูดถึงการสร้างเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติ เอาแค่ความมั่นใจของคนในประเทศต่อประสิทธิภาพและผลงานการบริหารของตัวเองก็พอแล้ว ล่วงเลยมาจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แล้ว ไม่ต้องอ้างเหตุโควิด-19 หรือม็อบป่วนประเทศ เอาแค่เม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูภายในประเทศที่มีทั้งเงินงบประมาณประจำปีและเงินกู้ที่ออกเป็นพ.ร.ก.มานั้น ได้สร้างมรรคผล ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างความมั่นคงให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดกลางถึงไหนแล้ว

คำตอบคือความว่างเปล่า แถไถกันไปเรื่อย แล้วก็คลอดสารพัดโครงการ ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชน เพราะถ้าคนอยู่ดีกินดีไม่มีปัญหา คงไม่มีคนหลั่งไหลไปร่วมม็อบ หากทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็มีแต่ผู้คนที่จะออกมาปกป้องคณะผู้บริหารประเทศ นี่คือสิ่งที่สามารถอธิบายความเชื่อของขบวนการสืบทอดอำนาจได้ว่า คนศรัทธาและไว้วางใจผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะมากน้อยเพียงใด

หากเหมารวมเอาว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันก็คือคนกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ถ้าเช่นนั้นก็มองได้ว่ากำลังมีความพยายามใช้กลไกในเรื่องนี้มาเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีที่ฉลาด มีแต่จะทำให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถ้าหลุดไปจากนี้ก็เจอประเภทเรียกร้องให้รัฐประหารและชัตดาวน์ประเทศ ถามว่าความคิดที่มืดบอดขนาดนี้จะเป็นฐานสำคัญให้รัฐบาลนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างนั้นหรือ

ไม่เพียงเท่านั้น ในทางการเมืองก็อย่างที่เห็น เล่นเกมยึดยื้อซื้อเวลากันอุตลุด เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการยื่นตีความ ถามเด็กอมมือยังดูออกว่าเล่นอะไรกันอยู่ ยิ่งสิ่งที่ วิษณุ เครืองาม พยายามอธิบายโดยอ้างความเห็นส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้ยื่นตีความ แต่ก็อธิบายเป็นฉาก ๆ ว่า การยื่นแบบนี้ดีอย่างไร มันหมายความว่าอะไร เข้าทำนองปากว่าตาขยิบอย่างชัดเจน ไม่ต้องไปฟังคำแก้ตัวจากพรรคสืบทอดอำนาจ

การรวมหัวกันกับส.ว.ลากตั้ง มันก็ฟ้องอยู่แล้วว่ามีการวางแผน ดึงจังหวะโดยอาศัยความช่ำชองทางข้อกฎหมายกันอย่างไร อย่างที่ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าและประธานส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บอก การกระทำเช่นนี้สร้างความไม่ไว้วางใจ ไม่ช่วยหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งความจริงคนของพรรคเก่าแก่ก็น่าจะรู้เช่นเห็นชาติกันอยู่แล้วว่า พวกที่ตัวเองเข้าไปร่วมเสวยสุขในอำนาจนั้นกำลังทำอะไรอยู่ และก็ไม่รู้ว่าจะต้องทนอยู่ร่วมกันไปเพื่ออะไร

ในเมื่อก็ยืนยันชัดเจนว่าแนวทางของพรรคตัวเองก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญ และเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่มีเหตุใดที่จะต้องมายืดเยื้อกันอีกต่อไป เมื่อเพื่อนเล่นไม่ซื่อกันแบบนี้ก็สมควรที่จะต้องทบทวนบทบาทในการอยู่ร่วมกัน หากไม่เสพติดอำนาจหรือมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการมีตำแหน่งแห่งหนในทางฝ่ายบริหาร ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่สุดแล้วสำหรับพรรคเก่าแก่ในการที่จะตัดสินใจทางการเมือง

ไม่ใช่แค่ประเด็นความไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการพาดพิงทำให้กระบวนการก่อร่างสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ดำเนินการโดย ชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสอันเป็นที่เคารพยิ่งของคนประชาธิปัตย์พลอยมีปัญหา และทำให้เกิดภาพด่างพร้อยตามไปด้วย เหล่านี้เพียงเพื่อที่จะปกป้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและผลประโยชน์ของพวกในพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้น แล้วคนในพรรคเก่าแก่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกันบ้างเลยหรือ

การขับเคลื่อนงานการเมืองไปในลักษณะนี้ ที่หวังว่าจะใช้ผลงานจากการดำเนินการของรัฐมนตรีในนามพรรค ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกร หรือการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรมนูญ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในเมื่อทางการเมืองคนต่างมองว่านี่เป็นองคาพยพของการสืบทอดอำนาจ มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง หาได้ยึดเอาประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้งแต่อย่างใดไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น หากพรรคเก่าแก่ยังร่วมหัวจมท้ายจนวินาทีสุดท้าย ก็เชื่อได้เลยว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจากที่เคยได้ส.ส.ครึ่งร้อยอาจจะเหลือแค่หลักสิบต้น ๆ เท่านั้น

Back to top button