ก.ล.ต.เชือดอดีตบอร์ด UVAN ฐานอินไซด์หุ้น สั่งปรับทางแพ่ง-ห้ามนั่งบริหาร

ก.ล.ต.เชือดอดีตบอร์ด UVAN ฐานอินไซด์หุ้น สั่งปรับทางแพ่ง-ห้ามนั่งตำแห่งผู้บริหาร


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 3 ราย ได้แก่ (1) นางจันทร์ทิพย์ วานิช กรณีซื้อขายหุ้น บริษัท ยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน (2) นางสาวอมรรัตน์ เกษมศักดากร กรณีช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการซื้อขายหุ้น UVAN และ (3) นางสาววลัยลักษณ์ ปฐมรังษิยังกุล กรณีช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการซื้อหุ้น UVAN

ทั้งนี้ ให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมจำนวน 5,132,632.50 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้ง 3 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ก.ล.ต.ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือน ธ.ค.60-ก.พ.61 นางจันทร์ทิพย์ ในฐานะกรรมการของ UVAN รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานปี 60 ของ UVAN ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานไตรมาส 4/60 ที่มีกำไรรายไตรมาสสูงสุดในรอบ 3 ปี และได้ซื้อหุ้น UVAN ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.60-22 ก.พ.61 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวอมรรัตน์ เกษมศักดากร และนางสาววลัยลักษณ์ ปฐมรังษิยังกุล จำนวนรวม 1,286,700 หุ้น ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.61 ทำให้นางจันทร์ทิพย์ได้ประโยชน์จากการซื้อหุ้นดังกล่าว

และพบว่าในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.61 นางจันทร์ทิพย์รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 ซึ่งมีผลกำไรสุทธิลดลงจำนวนมาก และนางจันทร์ทิพย์ได้ขายหุ้น UVAN ระหว่างวันที่ 12 ก.ค.61 ถึงวันที่ 10 ส.ค.61 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวอมรรัตน์ จำนวน 314,500 หุ้น ทำให้ได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.61

โดยการกระทำของนางจันทร์ทิพย์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 มาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5

ขณะที่การกระทำของนางสาวอมรรัตน์ และนางสาววลัยลักษณ์ซึ่งได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นางจันทร์ทิพย์ในการกระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 242(1) เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ที่แก้ไขฉบับที่ 5

ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนางจันทร์ทิพย์ นางสาวอมรรัตน์ และนางสาววลัยลักษณ์ โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด

โดยในส่วนของนางจันทร์ทิพย์ คิดเป็นเงินรวม 3,388,672.50 บาท นางสาวอมรรัตน์ คิดเป็นเงินรวม 1,121,980 บาท  และนางสาววลัยลักษณ์ คิดเป็นเงินรวม 621,980 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำผิดทั้ง 3 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ โดยในส่วนของนางจันทร์ทิพย์ เป็นเวลา 14 เดือน นางสาวอมรรัตน์ และนางสาววลัยลักษณ์ เป็นเวลารายละ 9 เดือน

สำหรับการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ทั้งนี้ ค.ม.พ. วางแนวทางให้ ก.ล.ต. ร้องขอต่อศาลเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ

 

 

Back to top button