วิกฤติ ‘สุเอซ’ & วิกฤติการค้าโลก

ก้าวข้ามผ่าน 1 สัปดาห์มาแล้ว กรณีเรือ Ever Given หนึ่งในเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่สุดของโลก ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2561 มีความยาวเกือบ 400 เมตร กว้าง 59 เมตร สามารถจุตู้คอนเทนเนอร์เที่ยวละ 20,000 ตู้ ดำเนินการโดยบริษัท Evergreen Marine Corp ของไต้หวัน เกิดปัญหาขาดพลังงานและถูกกระแสลมพายุพัด จนเกยตื้นขวางทางเดินเรือคลองสุเอซ (Suez Canal)


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

ก้าวข้ามผ่าน 1 สัปดาห์มาแล้ว กรณีเรือ Ever Given  หนึ่งในเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่สุดของโลก ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2561 มีความยาวเกือบ 400 เมตร กว้าง 59 เมตร สามารถจุตู้คอนเทนเนอร์เที่ยวละ 20,000 ตู้ ดำเนินการโดยบริษัท Evergreen Marine Corp ของไต้หวัน เกิดปัญหาขาดพลังงานและถูกกระแสลมพายุพัด จนเกยตื้นขวางทางเดินเรือคลองสุเอซ (Suez Canal)

นั่นจึงกลายเป็นต้นเหตุทำให้ระบบการขนส่งสินค้าทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ส่งผลกระทบต่อเรือไม่ต่ำกว่า 320 ลำ นับตั้งแต่ 23 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา

มีการประเมินกันว่า มูลค่าความเสียหายอาจสูงเกือบ 3 แสนล้านบาทต่อวัน เนื่องจากคลองสุเอซ เป็นช่องทางขนส่งทางการค้าสำคัญระหว่าง “ยุโรปและเอเชีย” ที่คิดเป็นสัดส่วน 12% ของปริมาณการค้าโลก เป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งเชื้อเพลิง, ก๊าซธรรมชาติเหลว, น้ำมันดิบ ประมาณ 5-10% ที่เหลือเป็นสินค้าอุปโภค อาทิ เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, ชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตและอุปกรณ์ออกกำลังกาย

นั่นหมายถึงทำให้ Suez Canal Authority (SCA) หน่วยงานบริหารจัดการคลองสุเอซของอียิปต์ ต้องสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลเช่นกัน โดยจากข้อมูลของ SCA ระบุว่า ปี 2020 มีเรือสินค้าผ่านคลองสุเอซ จำนวน  18,829 ลำ ระวางน้ำหนัก 1,170 ล้านตัน มีรายได้ 5,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 168,000 ล้านบาท)

“คลองสุเอซ” (Suez Canal) ถูกขุดขึ้นมาด้วยมนุษย์ในประเทศอียิปต์ ระหว่าง “พอร์ตซาอิด” ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และ “เมืองสุเอซ” (Suez) บนฝั่งทะเลแดง มีความยาว 183 กิโลเมตร เพื่อ เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ากับทะเลแดง ผ่านช่องแคบสุเอซ ในอียิปต์ตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 101 ไมล์ เริ่มก่อสร้างเดือน เม.ย. ปีค.ศ.1859 แล้วเสร็จช่วงเดือน พ.ย.ปีค.ศ.1869

จึงเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการค้าระดับโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางอ้อม “แหลมกู๊ดโฮป” ทวีปแอฟริกา

ก่อนหน้านี้ “คลองสุเอซ” ต้องเผชิญเหตุการณ์ทำให้ต้องมีการปิดคลองมาแล้ว ช่วงปีค.ศ.1956-1957 จนก่อให้เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ หรือสงครามอิสราเอลกับอาหรับ (ครั้งที่ 2) จากนั้นปีค.ศ.1967 “คลองสุเอซ” ต้องถูกปิดอีกครั้ง เมื่ออิสราเอลยึดครองคาบสมุทรไซนาย ก่อนจะมาเปิดคลองอีกครั้งปีค.ศ.1975

การ “ปิดคลองสุเอซ” ครั้งนี้ กลายเป็นปัจจัยใหม่ ทำให้เรือขนส่งทั้งหลายมีปัญหาหนักกว่าเดิม ทั้งเรื่องความล่าช้าและการขาดตอนการนำส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลก จนอาจส่งผลกระทบและเสียหายอย่างใหญ่หลวงอีกครั้ง เนื่องจากระดับการค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย สูงขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ประเมินกันว่า เรือขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันขนาดเล็ก โดยเฉพาะสำหรับการส่งจากยุโรปมายังเอเชีย น่าจะเผชิญกับผลกระทบหนักขึ้น หากคลองสุเอซต้องปิดต่อเนื่องหลายสัปดาห์ เพราะปกติเชื้อเพลิงที่ขนส่งทางเรือ คือ ต้นทุนหลักของธุรกิจ มีสัดส่วนสูงมากถึง 60% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด

มาถึงวันนี้แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกู้วิกฤติเรือ Ever Given ให้พ้นจากสภาพ “วาฬเกยตื้น” และกลับมาลอยลำอีกครั้งได้เมื่อใด…แต่ผลกระทบและความเสียหายบังเกิดขึ้นแล้วและจะทวีความเสียหายมากขึ้นอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้

Back to top button