ดัชนีตลาด และ กับดักของพลาโต้

เทศกาลประกาศงบไตรมาสแรกของปี 2564 กำลังจะเริ่ม ทั้งที่เทศกาลจ่ายปันผลสิ้นงวดปี 2563 ยังไม่แล้วเสร็จ เป็นโอกาสของการประคองดัชนีตลาดหุ้นที่ย่อตัวลงมาหลังจากไม่ผ่านแนวต้าน 1,600 จุดครั้งแรก ให้ยังมีขาขึ้นไปต่อทดสอบแนวต้านจิตวิทยาเดิมครั้งใหม่


พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล

เทศกาลประกาศงบไตรมาสแรกของปี 2564 กำลังจะเริ่ม ทั้งที่เทศกาลจ่ายปันผลสิ้นงวดปี 2563 ยังไม่แล้วเสร็จ เป็นโอกาสของการประคองดัชนีตลาดหุ้นที่ย่อตัวลงมาหลังจากไม่ผ่านแนวต้าน 1,600 จุดครั้งแรก ให้ยังมีขาขึ้นไปต่อทดสอบแนวต้านจิตวิทยาเดิมครั้งใหม่

การย่อตัวลงมาของดัชนี SET มากกว่า 50 จุดในเวลาสั้น ๆ ไม่อาจปิดบังภาพรวมของตลาดขาขึ้นยามนี้ เพราะเหตุผลหลักคือ ผลประกอบการที่ดีขึ้นของหุ้นกลุ่มหลัก

เริ่มตั้งแต่หุ้นกลุ่มธนาคารที่แข็งแกร่งทีละน้อย จากการคาดเดาของนักวิเคราะห์ จะเห็นว่า มีกำไรดีขึ้นมากกว่าไตรมาสที่ผ่านไป แต่แย่ลงเมื่อเทียบปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าพื้นฐานของธุรกิจไทยโดยรวมยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ซึ่งน่าจะยังผลให้ดัชนีตลาดหุ้นมีลักษณะทำนองเดียวกัน

เพียงแค่ผลพวงจากการปรับตัวเองของธุรกิจบางบริษัท น่าจะทำให้บริษัทบางแห่งมีกำไรมากขึ้นจากวิศวกรรมการเงิน เช่น PTT ที่รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของมาร์เก็ตแคปจากการเข้าระดมทุนของ OR เมื่อต้นไตรมาสแรกของปี หรือหุ้น GULF ที่จะรับรู้ปันผลจากการเข้าถือหุ้น INTUCH เพิ่มขึ้น ทำให้มีผลดีต่อราคาหุ้นเชิงบวก จะประคองตลาดได้มากขึ้น

ปรากฏการณ์ที่สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนขนาดใหญ่อย่างกองทุนต่างชาติ และพอร์ตโบรกเกอร์ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อิทธิพลของนักวิเคราะห์ต่อทิศทางของดัชนีตลาดไม่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ชี้นำเสมอไป

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยระดับแมงเม่าต้องมีการบ้านมากกว่าปกติ เพื่อจะ “เอาชนะตลาด” ให้ได้

ที่ผ่านมาเครื่องมือที่ทำให้นักลงทุนพากันเชื่อและต้องเงี่ยหูฟังนักวิเคราะห์คือ บทวิเคราะห์ด้วยเส้นกราฟทางสถิติ เพื่อคาดเดาอนาคตของตลาดและราคาหุ้น ซึ่งยังเป็นเวทีที่เหนียวแน่นรองรับเสมอ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ และนักลงทุนระดับเซียนที่มีประสบการณ์ยาวนาน เย้ยหยันว่า นักวิเคราะห์คือ ศาสดาปลอมที่ชี้แนะการลงทุน โดยมีทฤษฎีและเส้นกราฟทางสถิติชี้นำ แต่นักลงทุนมีทางเลือกไม่มากนัก จำต้องยอมรับว่าบางครั้งจำเป็นต้องเชื่อถือพวกเขาในระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

กระนั้น คำพูดเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่เคยระบุว่า นักลงทุนเป็นเศรษฐีน่าสงสารที่ต้องไปขอรับคำชี้แนะจากมนุษย์เงินเดือนอย่างนักวิเคราะห์ ว่าจะรวยจากการลงทุนอย่างไร… ถ้าแม่นยำจริง ไม่มาเป็นนักวิเคราะห์หรอก

โดยสถิติ ความแม่นยำของนักวิเคราะห์นั้นค่อนข้างต่ำกว่า 25% เสมอ เพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่การทายผิดอนาคตของตลาดโดยเฉลี่ยมากถึง 75% ไม่ได้หมายความว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย

นักวิเคราะห์ไม่ได้เจตนาทำผิดพลาด (ยกเว้นคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนบางคน ที่เป็นแกะดำ) แต่การวิเคราะห์ของพวกเขา มีลักษณะที่เรียกว่า “กับดักของพลาโต้” คือ เอาข้อมูลเชิงสถิติมาคาดเดาอนาคต ซึ่งมีโอกาสผิด เหมือนเอาสถิติการแข่งขันฟุตบอลมาบอกว่าทีมนั้นจะแพ้อีกทีมเสมอ …ฉันใดก็ฉันนั้น

ในทางปฏิบัติ การวิเคราะห์ทางเทคนิคของนักวิเคราะห์ จะไปลงเอยที่กับกลุ่ม กลุ่มคือ 1) แนวต้าน และแนวรับ (resistant poin-supporting point) ซึ่งทั้งสองแนวดังกล่าว ไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มีแต่ในจินตนาการเชิงทฤษฎี เพื่อเอาไว้อ้างอิง 2) คำว่า ซื้อถือขาย (overweighted-neutral-underweighted)

แนวต้าน และแนวรับ แม้ไม่ใช่จินตนาการที่เลื่อนลอย เพราะว่า เกิดจากการประมวลผลทางสถิติว่าด้วยพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนร่วมทั้งตลาด อย่างดี นับแต่ดาว และ โจนส์สองนักสถิติอเมริกัน พยายามสร้างทฤษฎีและเส้นกราฟเพื่อประมวลสัญญาณทางเทคนิคของราคาหุ้น เมื่อกว่า 2 ศตวรรษก่อน โดยแนวต้าน หมายถึง ขีดจำกัดระยะหนึ่งภายใต้ข้อกำหนดของเวลาที่ราคาหุ้นหรือดัชนีจะวิ่งขึ้นไปได้สูงสุด ก่อนที่จะปรับตัวลงมา ส่วนแนวรับ คือ ขีดจำกัดต่ำสุดที่ราคาหุ้นหรือดัชนีจะวิ่งลง แล้วพลิกบวกขึ้นไป

ในยามที่พื้นฐานของปัจจัยภายนอกตลาด หรือตลาดอื่น ๆ ที่ใหญ่กว่า มีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้กระแสฟันด์ไฟลว์เกิดการเคลื่อนตัวไหลเข้ามาก หรือไหลออกมาก ผิดปกติ แนวรับและแนวต้านของนักวิเคราะห์เริ่มถูกท้าทายรุนแรงจาก ทั้ง “ช่วงเวลาของความกลัว” หรือ “ช่วงเวลาของการหลงระเริงในความโลภ” ที่ครอบงำจิตวิญญาณของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรเหนือความโลภ

สถานการณ์ดังกล่าว ถือว่ากับดักของพลาโต้จะทำงานอย่างจริงจัง และทำลายล้างนักลงทุนได้ง่ายที่สุด

ข้อเท็จจริงนี้ เป็นคำเตือนสตินักลงทุนไว้เสมอให้ขึ้นใจว่า เงินในพอร์ตคือเงินเรา ไม่ใช่เงินนักวิเคราะห์

Back to top button