ค่าบาท กับแนวโน้มสงครามค่าเงิน

สหรัฐฯ ส่งสัญญาณอันธพาลระดับโลกว่าค่าบาทจะอ่อนลงไม่ได้ นี่เป็นข่าวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัยเลย


พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล

สหรัฐฯ ส่งสัญญาณอันธพาลระดับโลกว่าค่าบาทจะอ่อนลงไม่ได้ นี่เป็นข่าวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

ค่าเงินบาทของไทยอ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐฯ 4 สัปดาห์ต่อเนื่อง จนเมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน อยู่ที่ระดับใกล้จะทะลุ 32.00 บาทต่อดอลลาร์รอมร่อ แต่พอเปิดตลาดมาใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน ก็พลันแข็งค่าขึ้นกะทันหันที่ระดับต่ำกว่า 31.20 บาทต่อดอลลาร์

การผลิกกลับกะทันหันของค่าเงินบาท เกิดจากข่าวว่า กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ออกผลการประเมิน พบว่าค่าบาทไทยเข้าข่ายที่เรียกว่าอาจจะเริ่มต้นเข้าข่ายบิดเบือนมูลค่าต่ำเกินจริง …แม้จะมีการแก้ในภายหลังว่ายังไม่พบหลักฐานการบิดเบือน ก็สายเกินไปแล้ว เพราะ

กลายเป็นเรื่องตลกตกเก้าอี้ในทันที ทั้งที่สหรัฐฯ ใช้ข้อมูลเก่าเก็บตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวค่าบาทแข็งโป๊กที่ระดับใกล้ 30.10 บาทด้วยซ้ำ

ข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะที่ผ่านมาในรอบ 4 ปีนี้ แนวโน้มค่าบาทเทียบเงินสกุลดอลลาร์มีการแข็งมากกว่าอ่อน จนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขาดทุนมากมายมหาศาลต่อเนื่องจากการรักษาเสถียรภาพค่าบาทมิให้แข็งเกินสมควร

เหตุผลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในการตั้งข้อกล่าวหา ธปท.ว่าบิดเบือนค่าบาทถึงขั้นต้องขึ้นบัญชี Monitoring List ดูดีเหมือนมีหลักการ (ทั้งที่เป็นแค่ “หลักกู”)

ข้ออ้างว่าในแต่ละปี กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะออกรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจ และอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ มีเงื่อนไข 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 2. มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศมากกว่า 2.0% ต่อจีดีพี และ 3. มียอดซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิต่อเนื่อง 6 เดือนและเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2.0% ของจีดีพี

หากประเทศใดไม่ผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขก็จะเข้าข่าย บิดเบือนค่าเงิน(Currency Manipulator) แต่หากไม่ผ่าน 2 จาก 3 เงื่อนไขก็จะถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ ถูกจับตาใกล้ชิด (Monitoring List)

รายงานยังระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม เป็นประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ ขณะที่ไทย ไต้หวัน และอินเดีย ที่ถูกเพิ่มเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ถูกจับตาใกล้ชิด ร่วมกับอีก 7 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยจีนเพิ่งหลุดจากการถูกระบุว่าบิดเบือนค่าเงินในรายงานเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกจับตาต่อไป…ยิ่งเข้าข่าย “หาเรื่อง” มากขึ้นไปอีกเพราะเอาผู้ร้ายตัวจริงอย่างจีน และญี่ปุ่น รวมเข้ากับ “ผู้ร้ายประดิษฐ์” ชาติอื่น ๆ

ท่าทีตอบโต้ของ ธปท.ต่อเรื่องนี้ ที่ออกมาทันควัน ในทำนองว่าสถานะ Monitoring List ของไทย ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แต่สถานะดังกล่าวส่งผลให้กับค่าเงินบาท เพิ่มความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่กำลังจะมาถึง…ถือว่าถูกต้อง แม้จะ “หงอจนขาสั่น มากเกินไปสักหน่อย แต่ก็เข้าใจได้

นับตั้งแค่ปี ค.ศ. 1985 หรือข้อตกลงพลาซา หรือ Plaza Accord ในวอชิงตันดีซี ระหว่างธนาคารกลางของชาติมหาอำนาจ (ก่อนมีการก่อตั้ง BIS ที่เมืองบาเซิล) ทางเศรษฐกิจของโลกที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม จี -7 เพื่อพิจารณาฐานะของอัตราแลกเปลี่ยนที่กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก หลังจากที่รัฐบาลอเมริกันแสดงท่าทีว่า ไม่ต้องการแบกรับภาระของโลกด้วยค่าดอลลาร์ที่แข็งเกินกว่าฐานะที่แท้จริงอีกต่อไปได้ หลังวิกฤติน้ำมันครั้งที่สองได้เกิดขึ้น ข้อตกลงซึ่งมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกการใช้ดอลลาร์เป็นค่าเงินหลักของโลก หันมาใช้ตะกร้าเงินแทน และปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว

ผลลัพธ์คือ เศรษฐกิจอเมริกันเงยหน้าอ้าปากได้ หลังจากภาวะ “3 ขาด (ขาดดุลการค้า ขาดดุลงบประมาณ และดุลบัญชีเงินสะพัดเรื้อรัง) แต่ทำให้ตลาดเงินโลกป่วนมาจนถึงทุกวันนี้จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว

ครั้งแรกที่ใช้ข้อตกลงในปี 1985 ค่าเงินเยนที่เป็นเงินของชาติคู่ค้าใหญ่ที่สุดกลายเป็น แพะ ที่ถูกเชือดเป็นต้นแบบ ลดจากระดับเหนือ 250 เยนต่อดอลลาร์ ลงมาเหลือเพียง 150 เยนต่อดอลลาร์ และยังไม่หยุดนิ่งอีกนาน

การเชือดไก่ให้ลิงดู คราวนั้น ทำให้อเมริกาสามารถหาเรื่องกับชาติเล็ก ๆ ให้สยบได้มาถึงทุกวันนี้

การตั้งเกณฑ์ว่าชาติใดบิดเบือนค่าเงิน ที่แม้ไม่จริงก็มีผข้างเคียงเสมอ กรณีค่าบาทที่เปราะบาง จึงเป็นแค่จิ๊บจ๊อยเท่านั้นของสงครามค่าเงินที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

Back to top button